จิตรกรรมฝาผนัง “วิหารลายคำ” ผลงานการประชันฝีมือของ สองช่างเขียนชั้นครู

“วิหารลายคำ” วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง โดยในวิหารนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ภายในวิหารยังสวยงามไปด้วย “จิตรกรรมฝาผนัง” ที่เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้ามหาชีวิตอ้าว) ราว พ.ศ. 2406 ซึ่งเรื่องราวของภาพเขียนเป็นเรื่องราวที่แปลกและหาชมได้ยากในประเทศไทย

สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำนี้ ถูกเขียนขึ้นโดยฝีมือของสองช่างเขียน คือ “หนานโพธา” และ “เจ็กเส็ง” ซึ่งถือเป็นการประชันฝีมือระหว่างสองช่าง โดย “หนานโพธา” เขียนในฝั่งซ้ายของวิหาร (หันหน้าเข้าวิหาร) เล่าเรื่อง “สุวรรณหงส์ชาดก” ส่วน “เจ็กเส็ง” ช่างพื้นเมืองเชื้อสายจีน เขียนทางฝั่งขวา เล่าเรื่อง “สังข์ทอง” ที่ทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เป็นนิทานชาดกนอกนิบาต 2 ใน 50 เรื่องที่เรียกว่า “ปัญญาสชาดก” ที่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุล้านนาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000 – 2200

ซึ่งเรื่องสุวรรณหงส์โดยย่อ เป็นเรื่องราวของพระสุวรรณหงส์ โอรสของท้าวสุทัณฑ์นุราชแห่งนครไอยรัตน์ วันหนึ่งพระสุวรรณหงส์ทรงสุบินนิมิตไปว่า พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แต่จะมีผู้แก้ให้ฟื้นคืนชีพได้ โหรทำนายว่าจะเป็นเรื่องจริง และผู้มาช่วยชุบชีวิตให้คือนางเกศสุริยง แต่นางต้องต่อสู้กับนางยักษ์ตนหนึ่งที่หลงรักพระสุวรรณหงส์

ส่วนเรื่องย่อของสังข์ทอง เป็นเรื่องของท้าวสามลที่มีมเหสี 2 องค์ นางจันทาเทวีมเหสีรองใส่ร้ายนางจันทร์เทวีมเหสีเอกว่า เป็นกาลีบ้านกาลีเมือง เพราะประสูติโอรสเป็นหอยสังข์ ให้เอาไปถ่วงน้ำ แต่พระสังข์รอดตายเพราะนางยักษ์พันธุรัตน์นำมาเลี้ยง ต่อมาพระสังข์หนีนางยักษ์ด้วยการชุบตัวในบ่อทองกลายเป็นเจ้าเงาะ ต้องการกลับไปหาบิดา พบว่าท้าวสามลประกาศเลือกคู่ให้พระธิดาทั้ง 7 โดยนางรจนาน้องคนสุดท้องเห็นน้ำใจงามของเจ้าเงาะมากกว่าเปลือกนอกจึงได้เลือกเจ้าเงาะ

ภาพจิตรกรรมเรื่องสุวรรณหงส์ ที่เขียนโดย “หนานโพธา” นั้น หนานโพธาตั้งใจที่จะลอกเลียนลวดลายและศิลปกรรม ให้ใกล้เคียงกับแบบแผนของจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ให้มากที่สุด เห็นได้จากความพยายามที่จะใช้กรอบเส้นสินเทาแบ่งรูปภาพ การสอดแทรกลายคลื่นน้ำ นางเงือก สัตว์ในจินตนาการ พวกวารีกุญชร และดุรงคปักษิณ เป็นต้น ตามมุมต่างๆ โดยฉากนำของเรื่องสุวรรณหงส์ เป็นภาพเมืองมัตตังของนางเกศสุริยง ตัวเอกฝ่ายหญิง ที่พระสุวรรณหงส์ โอรสพระเจ้า กรุงไอยรัตน์ ขี่หงส์ยนต์ไปเมืองมัตตัง ลอบปีนหน้าต่างเข้าหานางเกศสุริยง เมื่อทั้งสองได้พบกัน เกิดพึงตาต้องใจและมีสัมพันธ์รักกัน ระหว่างนั้นนางยักษ์พี่เลี้ยงทั้งห้าแอบเห็นเข้า จึงทำหอกยนต์ดักไว้ที่ช่องหน้าต่าง พระสุวรรณหงส์ถูกหอกยนต์พุ่งเสียบอกอาการสาหัส เมื่อนางเกศสุริยงรู้ว่าพระสุวรรณหงส์ได้รับอันตรายถึงชีวิต นางเสียใจมาก จึงหนีออกจากปราสาท เดินตามรอยเลือดไปพลาง ร้องไห้พลาง

ในส่วนนี้ได้แบ่งออกเป็น 5 ห้องภาพด้วยกัน ห้องภาพที่ 1 เริ่มตอนล่างของหน้าต่างครึ่งซ้าย เป็นฉากเมืองไอยรัตน์ พระสุวรรณหงส์ตาย นางเกศสุริยงสลบด้วย ความเศร้าโศก พระอินทร์ได้ช่วยให้นางฟื้นและแปลงร่างนางให้เป็นพราหมณ์หนุ่ม พราหมณ์เกศสุริยงฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย แล้วเดินทางไปเมืองไอยรัตน์ขออาสารักษาพระสุวรรณหงส์ พระสุวรรณหงส์กับพราหมณ์อัมพรและพราหมณ์โต เดินทางพร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร

ห้องภาพที่ 2 พระสุวรรณหงส์พาพราหมณ์อัมพรเดินชมสวน พระสุวรณหงส์ออกอุบายให้หญิงอื่นเข้ามาสนิทสนมต่อหน้าต่อตา นางเสียใจมาก หนีกลับเมืองมัตตัง พระสุวรณหงส์จึงออกติดตาม , ห้องภาพที่ 3 เมื่อตามถึงเมืองพบตัวปลอมซึ่งไม่ทราบเรื่องจึงเสียใจคิดฆ่าตัวตาย แต่นางเกศสุริยงตัวจริงห้ามไว้ทันทำให้ทั้ง สองคนเข้าใจกัน เมื่อท้าวสามลทราบเรื่องและหวงลูกสาวจึงยกทัพไปล้อมปราสาทและต่อสู้กับพระสุวรรณหงส์ แต่ก็แพ้พระสุวรรณหงส์ , ห้องภาพที่ 4 พระสุวรรณหงส์กับนางเกศสุริยงเดินเท้ากลับเมืองไอยรัตน์ ระหว่างทางถูกนางยักษ์ทำอุบายแล้วแปลงกาย เป็นนางเกศสุริยงและกลับเข้าเมือง ภายหลังนางยักษ์ถูกฆ่าตายโดยยักษ์กุมภัณฑ์ๆ ออกตามหานางเกศสุริยงจนพบ จึงพานางไปอยู่กับนางเมขลา แล้วยักษ์กุมภัณฑ์เดินทางไปเมืองไอยรัตน์ บอกเล่าความจริงทุกอย่างให้พระสุวรรณหงส์ทราบ และบริเวณที่เป็นผนังย่อมุมรวมถึงผนังห้องภาพที่ 5 นั้น ภาพลบเลือนทั้งหมด

ภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทองทางฝั่งขวาของวิหาร แบ่งเป็น 7 ห้องภาพด้วยกัน ห้องภาพที่ 1 เป็นตอนที่นางยักษ์พันธุรัต เข้าป่าหาอาหาร เป็นฉากธรรมชาติมีสถาปัตยกรรมอยู่เพียงหลังเดียว ภาพสัตว์ป่าวิ่งหนีนางยักษ์กันโกลาหล ภาพนางยักษ์นอนหลับอยู่ในพลับพลาโถงขนาดกลาง , ห้องภาพที่ 2 เป็นภาพนางพันธุรัตที่แปลงกายเป็นมนุษย์อยู่ในเมือง พระสังข์ลอบชุบตัวในบ่อทอง บ่อเงิน แล้วเหาะหนีขึ้นไป บนภูเขา จนนางพันธุรัตตรอมใจ ด้านซ้ายมือของผนังเป็นขบวนของกษัตริย์ 101 เมือง กำลังเดินทางเพื่อไปเลือกคู่

ห้องภาพที่ 3 เป็นภาพเจ้าเงาะเหาะลงมายังพื้นราบ กษัตริย์ 101 เมืองเดินทางมาเข้าพิธีเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ เสนาเข้าเฝ้าท้าวสามลเพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ , ห้องภาพที่ 4 เป็นตอนที่ธิดาทั้ง 6 คัดเลือกกษัตริย์ได้แล้ว ยังแต่นางรจนา ท้าวสามลจึงประกาศให้มาชุมนุมใหม่ เพื่อให้นางรจนาเลือกในวันรุ่งขึ้น , ห้องภาพที่ 5 เป็นตอนที่เสนาล่อเจ้าเงาะลงมาจนถึงตอนที่ท้าวสามลขับไล่นางรจนาออกจากวัง , ห้องภาพที่ 6 เป็นภาพธิดาทั้ง 6 รุมด่าว่านางรจนา ใกล้ๆ กันด้านบนเป็นรูปเหล่ากษัตริย์ที่บรรดาธิดา 6 พระองค์ได้เลือกไว้ ส่วนด้านนอกกำแพงเมืองเป็นรูปเจ้าเงาะเดินออกจากเมืองไปกับรจนา และห้องภาพที่ 7 ถัดเข้ามาเป็นผนังด้านในสุดอยู่บริเวณด้านข้างของฐานชุกชี เป็นภาพอดีตพุทธ

ในส่วนของภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทองฝีมือของ เจ็กเส็ง นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยการที่ เจ็กเส็ง ได้เขียนภาพสามัญชน สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านลงไปด้วย อาทิ แม่ญิงล้านนากำลังหาบน้ำถุ้ง หนุ่มสาวชาวบ้านกำลังเกี้ยวพาราสีกัน ภาพแม่หญิงล้านนาเปลือยอก นั่งสูบบุหรี่ขี้โยยื่นให้อ้านบ่าวมาต่อมวน ภาพชายหนุ่มโชว์ขาที่สักหมึกดำ หรือที่ชาวสยามเรียกว่าลาวพุงดำ และคนนั่งล้อมวงซดเหล้า เป็นต้น พร้อมกันนี้ เจ๊กเส็ง ยังใส่ลายเซ็นของตนเองลงไปในภาพเขียนด้วย ด้วยการวาดภาพเหมือนของตนเอง ฝากไว้บนกรอบช่องหน้าต่างบานกลางด้านทิศเหนือ เป็นรูปชายหนุ่มสวมหมวกไว้หนวดไว้เครายาว นั่งประสานมือในท่าชันเข่า

ภาพจิตรกรรมทั้งสองเรื่องนอกจากจะสะท้อนความสวยงามให้ผู้ที่ได้รับชมเห็นแล้ว ยังสะท้อนถึงอิทธิพลของศิลปะที่ทั้งสองช่างเขียนได้ถ่ายทอดลองไป ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากทั้งสยาม ล้านนา และพม่า โดยช่างเขียนทั้งสองได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหลวงเชียงใหม่ ส่งให้เดินทางไปศึกษาดูงานจิตรกรรมฝาผนังชั้นเยี่ยมที่กรุงสยามและกรุงอังวะ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น โดยอิทธิพลเหล่านี้เห็นได้จากภาพ “เทพชุมนุม” อันเป็นคตินิยมของรัตนโกสินทร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือการใช้โครงสีฟ้า คราม เขียว ที่เป็นสีวรรณะเย็น ครอบคลุมภาพเขียนโดยรวม โดดเด่นแทนที่สีวรรณะร้อนพวกแดง ทอง แบบประเพณีนิยมล้านนาโบราณ

ส่วนอิทธิพลที่ได้รับมาจากพม่านั้น เห็นได้จากการพบ ตัวละครใส่เครื่องทรงแบบพม่าในชุด “มหาลดาปราสาท” อาคารสถาปัตยกรรมที่เป็นพระราชวัง เขตพระราชฐานก็จะเป็นหลังคาซ้อนชั้นทรงพญาธาตุ หรือภาษาพม่าเรียกว่า “เปี๊ยะดั๊ด” เครื่องแต่งองค์ภูษาภรณ์ของคนชั้นสูงเป็นแบบพม่า-ไทใหญ่

วันนี้หากสนใจชมภาพเขียนอันทรงคุณค่า ที่หาชมได้ยากเช่นนี้ ก็แวะมาชมกันได้ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พร้อมเปิดประตูต้อนรับทุกท่าน แต่ก่อนจะชม อย่าลืมกราบนมัสการ พระพุทธสิหิงค์ นะครับ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *