แพทย์เตือนผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมรับมือ 6 กลุ่มโรค และอันตรายที่มากับฝน

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนกันแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งอากาศร้อน และอากาศชื้น ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อยเจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุ มีภูมิต้านทานโรคต่ำตามสภาพร่างกายที่อ่อนแอลง ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากละเลยและไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อย หรือปัญหาที่ร้ายแรง ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ซึ่งในฤดูฝนนี้ ผู้สูงอายุควรระวังกับ 6 กลุ่มโรคและอันตรายที่มากับฝนและมักพบบ่อย ได้แก่

1.โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง

2.โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

3.โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) เป็นโรคที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้านเป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวน เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นป่วยได้ โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

4.โรคผิวหนัง
(1) ปัจจัยความอับชื้นที่มาพร้อมกับสายฝน ไม่ว่าจะเป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นผิวหนังที่เกิดจากความอับชื้น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ฉะนั้นหากเปียกฝนมาจึงควรรีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ หรือเช็ดตัวทุกสัดส่วนให้แห้ง ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะความอับชื้นเป็นปัจจัยให้ผิวไวต่อเชื้อแบคทีเรียและแพ้ง่ายขึ้น บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังการที่ผู้สูงอายุมักต้องเดินลุยน้ำก็อาจทำเกิด “โรคเท้าเปื่อย” ได้ โดยเฉพาะคนชราที่ป่วยโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลาม หากว่าเท้าเป็นแผลอยู่แล้ว ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง หรือหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรลงไปเดินหรือย่ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง
(2) ผื่นผิวหนังที่เกิดจากการถูกแมลงกัด โดยเฉพาะ “แมลงก้นกระดก” หรือ “ด้วงก้นกระดก” มักเกิดจากการที่แมลงมาเกาะแล้วเผลอปัด หรือบี้แมลงจนท้องมันแตก แล้วได้สารพิษนั้น ส่วนอาการจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการได้รับพิษ โดยอาการจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่จะมีอาการหลังจากสัมผัสแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง ลักษณะของผื่นจะเป็นผื่นแดง เป็นรอยไหม้ทางยาว ทิศทางตามรอยที่แมลงถูกมือปัดออกไป ในระยะต่อมาจะมีตุ่มน้ำพองใส และตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาภายใน 2-3 วัน ไม่คันมาก แต่จะมีอาการแสบร้อน ซึ่งหากสารพีเดอรินกระจายถูกบริเวณดวงตา ก็จะเกิดอาการบวมแดง และอาจทำให้ตาบอดได้

5.โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัสหรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง คลื่นไส้ และอาเจียน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับตับและไต และอาจรุนแรงทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

6.โรคท้องร่วง
อาหารเป็นพิษหรือโรคท้องร่วงเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาหารกระป๋อง อาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกพอ หรืออาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการสูญเสียน้ำภายใน 1 – 2 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท ปริมาณของเชื้อโรค และสารพิษที่ได้รับ แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

และ7.การลื่นหกล้ม
ในขณะช่วงฝนตกค่อนข้างพบได้บ่อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้สูงวัยบางรายจะเกิดความขยันเป็นพิเศษในช่วงนี้ เช่น การออกไปล้างรถขณะที่ฝนพรำ ประกอบกับพื้นรองเท้าที่ไม่มีดอกยาง จึงทำให้ท่านลื่นหรือสะดุดหกล้มได้ง่าย สิ่งสำคัญลูกหลานต้องหมั่นตรวจสภาพของรองเท้าที่ไม่มีดอกยาง หรือเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่แทนที่คู่เก่าที่เสี่ยงต่อการหกล้มให้กับท่าน

แม้ว่าฤดูฝนจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่การดูแลเอาใจใส่สุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นฤดูใดก็ตาม นอกจากนี้ การเอาใจใส่จากลูกหลานก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจ ห่างไกลโรคได้ดียิ่งขึ้น

(อ.พญ.พิมลพรรณ รัตนพัฒนากุล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *