“วัดสวนดอก” วัดในเวียงสวนดอก

“วัดสวนดอก” หรือ “วัดบุปผาราม” เป็นหนึ่งในพระอารามหลวงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดสวนดอกนี้สร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 1914 พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์ เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอกได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด ซึ่งวัดสวนดอกได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกันไว้ที่นี่ และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหาร โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

ภายในวัดสวนดอกมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

“พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา”
เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา โปรดเกล้าฯให้สร้าง “พระอารามหลวง” โดยโปรดเกล้าให้สร้าง “พระเจดีย์ทรงลังกา” ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

“พระเจ้าเก้าตื้อ”
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ( “ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 “พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องจากมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย

“พระพุทธปฏิมาค่าคิง”
พระพุทธปฏิมาค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง

“พระวิหารหลวง”
มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วาสร้างเมื่อ พ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบ หน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงาม ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

“กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ”
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริใน พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเห็นว่าอนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางทิศตะวันตก บริเวณตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในฤดูฝน น้ำก็มักจะเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ ประกอบกับทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของวัดสวนดอกกว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่แทน รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจากพระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบันกู่เจ้านายฝ่ายเหนือแห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *