แบงค์ชาติภาคเหนือ แถลงเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดย นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เป็นประธานแถลงข่าว เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2563 โดยภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน แม้จะทยอยปรับดีขึ้นช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส จากแรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ทำให้ภาคท่องเที่ยวหดตัวน้อยลง แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในเดือนธันวาคม เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมทั้งไตรมาสกลับมาหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรชะลอลงตามผลผลิตที่หดตัว สอดคล้องกับภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในหมวดอาหารเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง
โดย เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเท่ากับไตรมาสก่อน โดยราคากลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคากลุ่มอาหารสดชะลอลง สำหรับตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ปรับลดลง ด้านภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 เงินฝากและสินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
สำหรับ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้
“ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว” หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับมีช่วงวันหยุดติดต่อกันและการประกาศวันหยุดพิเศษ ทำให้ในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยหดตัวน้อยลงเป็นลำดับ สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ จำนวนเที่ยวบิน จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย และอัตราการเข้าพักปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมการท่องเที่ยวในภาคเหนือเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มซบเซาลง
“การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน” หดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน การใช้จ่ายหมวดบริการกลับมาหดตัวมากขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวน้อยลงต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนกลุ่มยานยนต์กลับมาทรงตัว จากปัจจัยชั่วคราวที่มีการเร่งทำโปรโมชั่นช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และการเร่งส่งมอบในช่วงปลายไตรมาส ภาพรวมการใช้จ่ายในหลายหมวดที่ยังหดตัว ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้ภาคเกษตรชะลอลง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อโดยรวมยังอ่อนแอ
“รายได้เกษตรกร” ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากผลผลิตอ้อยโรงงานลดลงตามพื้นที่เพาะปลูกและผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง อย่างไรก็ดีผลผลิตที่ยังขยายตัว ได้แก่ ข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน และสุกร
“การผลิตภาคอุตสาหกรรม” กลับมาหดตัว จากการผลิตหมวดอาหารเป็นสำคัญ โดยการผลิตน้ำตาลหดตัวตามผลผลิตอ้อยโรงงานที่ลดลง ทำให้โรงงานน้ำตาลบางส่วนเลื่อนการเปิดหีบอ้อยออกไป ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์จากโคนมหดตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ ซึ่งลดลงชั่วคราวจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศคู่ค้า การผลิตสินค้าหมวดเครื่องดื่มหดตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดีการผลิตสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ กลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ทยอยปรับฟื้นตัว
“การลงทุนภาคเอกชน” ทรงตัวในระดับต่ำตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตยังคงหดตัว อย่างไรก็ดีธุรกิจขนาดใหญ่บางกลุ่มยังคงลงทุนตามแผนที่วางไว้ก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้านการลงทุนเพื่อการก่อสร้างปรับดีขึ้นในกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เป็นผลจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นยังคงหดตัวต่อเนื่อง
“การใช้จ่ายภาครัฐ” ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปีก่อน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า ประกอบกับการเร่งรัดเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ส่วนรายจ่ายประจำขยายตัวจากหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
“มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร” การส่งออกในรูปเงินบาทหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผ้าผืนไปเมียนมา ขณะที่การส่งออกผลไม้ไปจีนยังขยายตัวสูงตามความต้องการบริโภคช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้านการนำเข้าขยายตัว ตามการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าปศุสัตว์มีชีวิต หดตัวจากการระงับการนำเข้าสินค้าบริเวณด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดีในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ในเมียนมา
“เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ” อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเท่ากับไตรมาสก่อน ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนราคาอาหารสดขยายตัวชะลอลง สำหรับตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ปรับลดลง
และ “ภาคการเงิน” ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ยอดเงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ขยายตัวจากความต้องการรักษาสภาพคล่องของผู้ฝาก และส่วนหนึ่งเป็นเงินเยียวยาภาครัฐที่ยังตกค้าง ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ หดตัวตามสินเชื่อธุรกิจตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม