“แบงค์ชาติ” แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 1/2564 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลง “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 และแนวโน้ม” โดย นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ซึ่งพบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสอง เริ่มกระทบมากตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 – ม.ค. 2564 แต่ละจังหวัดได้ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นตามผลผลิตที่ขยายตัว ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน ข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ช่วยให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทยอยหดตัวน้อยลง โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น ขณะที่ความต้องการซื้อรถยนต์ขยายตัวในกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ จากลูกค้ากลุ่มเกษตรกรและการขนส่งสินค้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ผลผลิตน้ำตาลมีอ้อยเข้าหีบเหลื่อมมาเก็บเกี่ยวในไตรมาสนี้มากขึ้น แต่หมวดเครื่องดื่มหดตัวเพราะกิจกรรมนอกบ้านและการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่อาหารแปรรูปส่งออกลดลง เพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ขนส่งล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีแม้จะชะลอลงบ้าง โดยรายจ่ายประจำหดตัวเพราะปีก่อนฐานสูง ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมชลประทาน และกรมทางหลวงชนบท หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดครุภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข การลงทุนภาคเอกชนชะลอลง ตามการลงทุนก่อสร้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม สอดคล้องกับพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนเพื่อการผลิตกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้า e-Commerce และสินค้าเกษตร รวมทั้งธุรกิจรายใหญ่บางรายยังนำเข้าเครื่องจักรอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนือติดลบมากขึ้นจากไตรมาสก่อน ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลงตามราคาข้าว ไข่ และผักสด ส่วนหมวดพลังงานปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 38 ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือน เม.ย. 2564 มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน เครื่องชี้เร็ว เช่น Facebook Movement Range ที่แสดงการเคลื่อนไหวของคน และ SiteMinder ที่แสดงการจองห้องพัก มีทิศทางหดตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มการระบาด อย่างไรก็ดี ผลผลิตภาคเกษตรยังมีแนวโน้มดี จากข้าวนาปรังตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และสุกรยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว โดยสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลุ่ม IC, PCB และ Semiconductor ได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกเป็นช่วงขาขึ้น และกระแส Work from Home ขณะที่สินค้าอาหารแปรรูปมีความต้องการต่อเนื่องจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจภาคเหนือจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ภายใต้ข้อสมมติว่าสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมีการกระจายวัคซีนได้ดี รวมทั้งภาครัฐใช้มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเหนือทยอยกลับมาฟื้นตัวได้

สถานการณ์ที่ธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 หลายระลอก ธปท. จึงเร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นจุดเปราะบางให้ได้อย่างทั่วถึง และรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เริ่มตั้งแต่ 26 เม.ย. 64 ประกอบด้วย (1) มาตรการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เน้นให้สภาพคล่องใหม่แก่ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs มีวงเงิน 250,000 ล้านบาท ระยะเวลาการให้สินเชื่อ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยให้คิดเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดย 2 ปีแรกให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก (2) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เน้นช่วยธุรกิจที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยให้ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ และมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนในภายหลัง นอกจากนี้ ในส่วนของสินเชื่อบุคคลทั่วไป ได้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ทั้งที่เป็นหนี้ดี หนี้ที่เป็น NPL หนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้อง และหนี้ที่บังคับคดี สามารถลงทะเบียนได้ที่ Website ของ แบงก์ชาติ www.bot.or.th และ Website 1213 www.1213.or.th หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ call center โทรศัพท์ 0-2283-6112 E-mail: FinRehab@bot.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *