“วัดท่าข้าม” วิหารคำล้ำค่า

“วัดท่าข้าม” ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่สวยงาม สวยงามด้วย “วิหารคำ” อันล้ำค่า เป็นวิหารสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในแต่งแต้มฝาผนังด้วยจิตรกรรมสกุลช่างไทยใหญ่ ที่วัดนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2525

วัดท่าข้าม หรือชื่อทางกรมศาสนา คือ “วัดสุปัตตนาราม” มีความโดดเด่นอยู่ที่ “วิหารคำ” เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2524 ตัววิหารเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงลักษณะการขยายสัดส่วน โดยการลดชั้นหลังคาแบบล้านนา ที่มีความสวยงามและเป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ การลดชั้นหลังคาแบบล้านนาไปทางด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 3 ชั้น โดยเฉพาะด้านหน้ามีหลังคาลดชั้นคลุมบันไดทางขึ้นสองข้าง เชิงบันไดมีนาคอยู่ด้านข้างเป็นศิลปะสมัยล้านนา ช่วงบนเป็นหัวนาค ช่วงล่างเป็นมังกร คือ เป็นลักษณะของมังกรคาบนาค ซึ่งเป็นความเชื่อของคนรุ่นก่อน นอกจากนี้ยังมีหลังคามุกคลุมบันไดทางขึ้นด้านข้าง 2 ข้าง (ทิศเหนือและทิศใต้) ลด 2 ชั้น รับกับวิหารอันเป็นทางที่สำหรับพระสงฆ์ขึ้นไปทำพิธีกรรมในพระวิหาร

“วิหารคำ” วัดท่าข้าม สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2407 โดย ครูบาพรหม สรวิจา ณ บริเวณที่แต่เดิมเป็นจุดข้ามฟากแม่น้ำฮาว (จึงเป็นที่มาของชื่อวัด) โดยเข้าใจว่าในสมัยนั้นคงมีการนำสินค้าล่องจากแม่น้ำมาค้าขายในย่านนี้อย่างคึกคัก วิหารหลังนี้โครงสร้างม้าตั่งไหม เสาวิหาร และเครื่องไม้ลงชาดตกแต่งลวดลายคำ ภายในวิหารด้านหน้าพระประธานมธรรมาสน์ทรงปราสาทล้านนาซึ่งพระสงฆ์ใช้ในการเทศนาธรรม ด้านหน้าแหนบ โก่งคิ้ว ตกแต่งด้วยแก้วจืนลวดลายมังกร กับหงส์ และลายเมฆา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทองคำเปลว แท่นแก้วประดับตกแต่งด้วยลวดลายแก้วจืน ด้านหลังเป็นลายคำพรรณพฤกษา เชิงบันไดมีนาคอยู่ด้านข้างช่วงบนเป็นหัวนาค ช่วงล่างเป็นมังกร หรือเรียกว่า เหราพญานาค

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารคำเป็นศิลปะสกุลช่างไทยใหญ่ เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด แม่แจ่ม เป็นเรื่องพุทธประวัติการสังคายนาพระไตรปิฏก และชาดกพื้นบ้านชาดกนอกนิบาต เรื่อง แสงเมืองมาหลงถ้ำ และยังมีพุทธประวัติตอนปราบท้าวมหาชมพู โดย “ครูช่าง “ส่างจะเล” คาดว่าเขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24

จิตรกรรมฝาผนังวิหารคำ วัดท่าข้าม มีการใช้องค์ประกอบทางศิลปะที่แปลกไปกว่าจิตรกรรมที่อื่นๆ คือ มีลักษณะเฉพาะที่พิเศษ ในการใช้แถบสี คู่สีคราม น้ำตาลแดง เป็นเส้นลายขวางคล้ายลายผ้าซิ่นเป็นพื้นหลังของภาพ และการใช้เส้นโค้งเป็นเส้นสินเทาในบางภาพ การนำเสนอเนื้อหาต่างๆ โดยใช้รูปคน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรม เขียนบนพื้นเส้นลายขวาง เป็นตัวดำเนินเรื่อง ตัวละครลดทอนความเป็นอัตลักษณ์ไทใหญ่ลง และผสานวิถีชีวิตคนไทยวนมากขึ้น สีที่ใช้เป็นคู่สีคราม น้ำตาลแดง มีความแปลกตา งดงาม ลงตัว ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

ทั้งหมดนี้สวยงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ยิ่งนัก…!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *