พระอารามหลวง เชียงใหม่

“พระอารามหลวง” หรือ “วัดหลวง” คือ วัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังยรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง

“พระอารามหลวง” แต่เดิมนั้นยังไม่มีการจัดแบ่งอย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการจัดแบ่งพระอารามหลวงออกเป็นหลายชั้นตามความรู้สึก หรืออาศัยการคาดเดาตามสถานการณ์ เช่น ดูจากการพระราชทานเทียนพรรษาขี้ผึ้งหรือไม้เล่มเดียวหรือมากกว่านั้น หรือดูจากการบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานแก่เจ้าพนักงานผู้คุมเลกข้าพระ เป็นต้น หลังจากนั้น กระทรวงธรรมการร่วมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดระเบียบพระอารามหลวง เพื่อประมาณค่าบำรุงวัดหลักจากเลิกเลขวัด แต่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบพระอารามหลวง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการจัดระเบียบพระอารามหลวงขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่นั้นมา

โดยครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือ วัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์ เป็นส่วนพระองค์หรือทรงในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง[

การแบ่งพระอารามหลวง แบ่งตามระดับชั้น เริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้

พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ชนิด คือ ชนิดราชวรมหาวิหาร ชนิดราชวรวิหาร และชนิดวรมหาวิหาร , พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ มี 4 ชนิด คือ ชนิดราชวรมหาวิหาร ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรมหาวิหาร และชนิดวรวิหาร และพระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมืองหรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี 3 ชนิด คือ ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรวิหาร และชนิดสามัญ

โดย ราชวรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ โดยมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ , ราชวรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ , วรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามในลักษณะเดียวกับชนิดราชวรวิหาร แต่มีความสำคัญน้อยกว่าและทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชเกียรติแก่ผู้อื่น และวรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา อาจเป็นวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงและยกเป็นเกียรติยศ

สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่นี้ มีพระอารามหลวงอยู่ 10 แห่งด้วยกัน ได้แก่

พระอารามหลวงมหานิกาย พระอารามหลวงชั้นเอก “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท “วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร” พระอารมหลวงชั้นตรี “วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร” “วัดโพธารามมหาวิหาร” (วัดเจ็ดยอด) “วัดสวนดอก” “วัดศรีโสดา” “วัดท่าตอน” “วัดพระธาตุดอยสะเก็ด” , พระอารามหลวงธรรมยุติกนิกาย “วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร” และ “วัดป่าดาราภิรมย์”

…………………..

“วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร”

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา โดยพระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนที่รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง”

วัดพระสิงห์ฯ พญาผายู กษัตริย์ล้านนา ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อแล้วเสร็จ ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” สมัยพญาแสนเมืองมาขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย มาประดิษฐานไว้ที่นี่ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพระสิงห์” โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

…………………..

“วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร”

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา มีเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ลานเจดีย์เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ทางขึ้นเป็นบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน

วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1927 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการบูชาส่วนพระองค์มาถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าในบริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น

…………………..

“วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร”

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

…………………..

“วัดโพธารามมหาวิหาร” หรือ “วัดเจ็ดยอด”

วัดโพธารามมหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ แต่เดิมชื่อวัดวัดโพธารามมหาวิหาร ตั้งอยู่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระเจ้าติโลก กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 9 โปรดให้ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1998 พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เลียนแบบมหาโพธิวิหาร ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2020 วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นสถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก

…………………..

“วัดสวนดอก”

วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ โดย วัดสวนดอก สร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 1914 พญากือนา กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระสุมนเถระ” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอกเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้าง จนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือและประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด ซึ่ง วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้านครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

…………………..

“วัดศรีโสดา”

วัดศรีโสดา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดศรีโสดาเป็นวัด 1 ใน 4 วัดที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้น โดยท่านได้ตั้งชื่อวัดให้มีความหมายเทียบพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา 4 ชั้น ได้แก่ วัดโสดาบัน วัดสกิทาคามี วัดอนาคามี และวัดอรหันต์ ต่อมา วัดโสดาบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดศรีโสดา สันนิษฐานว่าที่เติมคำว่า “ศรี” มาจากชื่อครูบาศรีวิชัย เพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมรำลึกคุณูปการที่ท่านสร้างวัดนี้ขึ้นมา

…………………..

“วัดท่าตอน”

วัดท่าตอน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่กว่า 425 ไร่ วัดท่าตอนเป็นวัดโบราณ ร้างมานานหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด คาดว่าบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เช่น น้ำแม่กก เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ พบว่า พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดท่าตอน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่ง 5 องค์ ปางประทับยืน 3 องค์ เป็นศิลปะล้านนา มีอายุ 500–700 ปี จึงสันนิษฐานว่า วัดท่าตอนอาจสร้างในสมัยเดียวกับที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างพระธาตุสบฝาง (ประมาณหลัง พ.ศ. 1483) และตั้งอยู่บนยอดเขาริมน้ำแม่กกเช่นเดียวกัน อีกทั้งจารึกในฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรืองซึ่งห่างจากท่าตอนไม่มาก ก็ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชมาก

วัดท่าตอน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2518 ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2534[4]

…………………..

“วัดพระธาตุดอยสะเก็ด”

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เป็นวัดที่มีตำนานเรื่องเล่าขานกันว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว พระองค์ได้ออกเดินทางเผยแพร่ธรรมะแก่ชาวชนบทในแถบชมพูทวีป จนมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นจำนวนมาก ในกาลนั้นพระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนยอดดอยแห่งนี้ แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่วบริเวณ ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว ได้เห็นฉัพพรรณรังสี จึงแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่ยอดดอย ได้ทัศนาเห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใส จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มและหญิงสาวมาเข้าเฝ้า พร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเอาดอกบัวนั้นไว้แล้วจึงแสดงธรรมโปรดและประทานเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หินแล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้บนดอยแห่งนี้

ต่อมาได้มีพรานป่ามาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวย จึงเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืนได้ฝันว่า เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้ชักชวนชาวบ้าน ในแถบนั้นขึ้นไปสักการบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” หรือบ้างก็เรียก “ดอยสะเกล็ด” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “ดอยสะเก็ด” ดอยแห่งนี้ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมากราบนมัสการเจดีย์หินอันเป็นที่บรรจุเกศาธาตุมากขึ้น จึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่และมั่นคงกว่าเดิม และได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งจากเมืองน่าน มาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์ พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด เรียกว่า “วัดดอยสะเก็ด”

…………………..

“วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร”

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 – 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร

แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง มีชื่อว่า “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และพระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วย ได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน ในเวลานั้นมีชายผู้หนึ่งอายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้นำเอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้าตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อ โชติการาม พวกลัวะทั้งหลายเอาข้าวของบูชาพระธาตุพระพุทธเจ้า จึงก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา

นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง”

…………………..

“วัดป่าดาราภิรมย์”

วัดป่าดาราภิรมย์ ได้รับพระบรมราชานุญาตยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นับได้ว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งที่ 7 ในจังหวัดเชียงใหม่ นามของวัดนี้ถูกตั้งขึ้นตามพระนามของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา โดย วัดป่าดาราภิรมย์ นี้ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต ได้ออกจาริกธุดงค์มาทางภาคเหนือและได้พำนัก ณ ป่าช้าร้างติดกับสวนเจ้าสบาย พระตำหนักดาราภิรมย์ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสถานที่สงบ เป็นสปายะในการบำเพ็ญกรรมฐาน และมีพระสงฆ์ได้เข้ามาบำเพ็ญกรรมฐาน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อชาวบ้านในละแวกนี้เห็นแล้ว ได้เกิดศรัทธาจึงได้ร่วมกันสร้างเสนาสนะต่างๆ ถวายเพื่อให้คณะสงฆ์ได้ใช้ในกิจการสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ทายาทของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้ถวายที่ดินดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานพระตำหนักเจ้าดารารัศมีให้แก่วัด

วัดป่าดาราภิรมย์ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2522 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523

(หมายเหตุ : แฟ้มภาพ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *