“พระรอด” 1 ในเบญจภาคี พระดีแห่งล้านนาหริภุญชัยนคร

เป็นที่รู้กันดีว่า “วัดมหาวัน ลำพูน” เป็นต้นกำเนิดของ “พระรอด” ซึ่งหากย้อนไปในอดีตครั้ง “พระนางจามเทวี” เสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญชัย พระองค์ได้ชักชวนประชาชนร่วมกันสร้างพระอารามใหญ่น้อยขึ้น เพื่อถวายแด่พระรัตนตรัย ทั้งยังเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่มาจากกรุงละโว้ ซึ่งวัดต่างที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้นมีอยู่ 5 วัดด้วยกัน ได้แก่ วัดอรัญญิกรัมมาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันคือ วัดดอนแก้วรวมกับวัดต้นแก้ว , วัดมูลการาม อยู่ทางทิศใต้ คือวัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐะ) ปัจจุบันคือ วัดรมณียาราม , วัดอาพัทธาราม อยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบันคือ วัดพระคงฤาษี , วัดมหาลดาราม อยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันคือ วัดประตูลี้ และวัดมหาวนาราม อยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจุบันคือ วัดมหาวัน

เมื่อสร้างวัดทั้ง 5 แล้ว พระนางจามเทวีก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ทั้ง 5 วัด ส่วนวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี ได้มาปรารภกันว่า เมืองหริภุญชัยนครนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชารักษาบ้านเมือง และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารและประชาชน จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมือง แล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศ พร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิดและเกสรดอกไม้ มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทย์มนต์คาถา จากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่ จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระคง” เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชั ยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระรอด” เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระคงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี และนำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน

“พระรอด” มีการขุดพบครั้งแรกในราวต้นรัชกาลที่ 5 แต่จากการสืบค้นทราบว่าในปี พ.ศ. 2435 พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร ทางวัดได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นได้พบพระรอดภายในกรุเจดีย์มากที่สุด พระรอดมีลักษณะของผนังใบโพธิ์คล้ายพระศิลาในพระวิหารวัดมหาวัน ผู้พบพระรอดในครั้งนั้นคงเรียกตามนามพระรอดหลวง แต่นั้นมาก็ได้นำพระรอดส่วนหนึ่งที่พบในครั้งนี้ นำเข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ตามเดิม ต่อมาในปีพ.ศ. 2451 ครั้งนั้นฐานพระเจดีย์ใหญ่วัดมหาวันชำรุด ทางวัดได้รื้อออกและปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้พบพระรอดที่บรรจุไว้ใน พ.ศ. 2435 ได้นำออกมาทั้งหมด และนำออกแจกจ่ายแก่ข้าราชการและผู้ร่วมงานในขณะนั้น เป็นการพบพระรอดจำนวนมาก พระรอดกรุนี้ถือเป็นพระกรุเก่าและตกทอดมาจนบัดนี้ และทางวัดมหาวันได้จัดพิธีสร้างพระรอดรุ่นใหม่บรรจุไว้แทน

ลักษณะทั่วไปของ “พระรอด” เป็นพระปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่นั่งและมีผ้านิสีทนะ (ผ้านั่งปู) รองรับปูไว้บนฐานข้างหลังองค์พระมีลวดลายกระจัง ชาวล้านนาเรียกกันว่า ใบโพธิ์ เพราะกระจังนั้นดูคล้ายๆใบโพธิ์มีกิ่งก้านไม่อยู่ในเรือนแก้ว พระพักตร์จะปรากฏพระเนตร (ตา) พระกรรณ (หู) ยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะ (บ่าหรือไหล่) ทั้งสองข้าง ส่วนด้านหล้งนั้นไม่มีลวดลายอะไรนอกจากรอยนิ้วมือ บางองค์มีลักษณะนูนบ้างแบนบ้าง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 พิมพ์ด้วยกัน ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น

“พระรอด” เป็นพระขนาดเล็กศิลปะแบบหริภุญชัย ที่อยู่ในยุคของทวารวดีตอนปลาย อายุราว 1,200-1,300 ปี ซึ่งเป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีศิลปะแบบพื้นถิ่นผสมผสานกับศิลปะแบบทวารดี มีกลิ่นอายของศิลปะแบบคุปตะปะปนอยู่

ขนาดของ “พระรอด” มีขนาดไม่เหมือนกัน ขนาดใหญ่เกือบจะเท่าพระคงก็มี เรียกว่าพระรอดหลวง ฐานกว้างประมาณ 1 นิ้ว และขนาดเล็กไปตามลำดับจนถึงขนาดเท่าใบมะขามเรียกว่า พระรอดใบมะขาม ซึ่งหายากที่สุด เนื้อพระรอดเป็นเนื้อกระเบื้องดินเผา เนื้อนิ่มคล้ายสีผึ้ง ดินละเอียด ไม่มีเม็ดแร่เจือปน ไม่มีรอยร้าวหรือรายแตก เนื้อแน่นมีน้ำหนักกว่าดินธรรมดาในปริมาณที่เท่ากัน สีพระรอดมีหลายสีด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของวัตถุที่ถูกไฟเผา เช่น สีเขียวปีกแมลงภู่ สีแดง สีขาวแต่ไม่สด สีเหลืองแต่ไม่เรื่อ สีหม้อกะทะ สีดอกพิกุลแห้ง สีดอกมะละกอ และสีก่าน คือมี 2 สีในองค์เดียว เป็นต้น

พุทธคุณของ “พระรอด” นั้น เชื่อกันว่า พระรอด มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล และคงกระพันชาตรี

ปัจจุบัน “พระรอด” เป็น 1 ในพระเบญจภาคี โดยมี “พระสมเด็จพระพุฒาจารย์” เป็นองค์ประธาน ทรงคุณวิเศษทางมหานิยมและมหิทฤทธิ์ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ , “พระนางพญา” เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับแรก ทรงคุณวิเศษคล้ายกับพระสมเด็จฯ แต่หนักไปในทางมหิทฤทธิ์มากกว่าพระสมเด็จฯเล็กน้อย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา , “พระรอด” เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับแรก , “พระกำแพงทุ่งเศรษฐี” หรือ พระซุ้มกอ เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับรอง ทรงคุณวิเศษทางเกื้อกูล ลาภยศเงินทอง คงกระพัน และมหานิยม สร้างในสมัยสุโขทัย และ “พระผงสุพรรณ” เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับสอง ทรงคุณวิเศษทางหลักทรัพย์ เป็นสื่อทางโชคลาภ และหนักไปทางคงกระพันแคล้วคลาดมากกว่าพระกำแพงทุ่งเศรษฐี สร้างในสมัยอู่ทอง สำหรับ พระสมเด็จพุฒาจารย์ พระนางพญา และพระรอดนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็น “องค์ไตรภาคีแห่งพระเครื่อง” โดยมีพระสมเด็จพุฒาจารย์ เป็นองค์ประธานเช่นเดียวกันกับองค์เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *