ตามรอย “ไทลื้อ” เชียงของ-เชียงคำ-เชียงม่วน

กายแต่งกายไทลื้อ

“ไทลื้อ” (ไตลื้อ) หรือ “ชาวลื้อ” เป็นชนชาวไทกลุ่มหนึ่ง ที่พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ประเทศจีน สำหรับ ไทลื้อ ในประเทศไทยนั้น จะกระจายตัวกันอยู่ใน 8 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ และน่าน โดยมีเอกลักษณ์ที่อันโดดเด่น น่าสนใจไม่น้อย คือ การใช้ภาษาไทลื้อ และวัฒนธรรม อาทิ การแต่งกาย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ และอาหารการกิน เป็นต้น ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณๆมาสัมผัสกับวิถีไทลื้อกันที่ เชียงของ จังหวัดเชียงราย เชียงคำ และเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

“ไทลื้อ” แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีน มี “เมืองเชียงรุ่ง” ในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นศูนย์กลาง ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพและถูกกวาดต้อนมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ตอนเหนือของลาว ตอนเหนือของเวียดนาม และทางภาคเหนือไทย

การอพยพของ ไทลื้อ นี้ เป็นการอพยพจากถิ่นฐานเดิมอย่าง เมืองลื้อหลวง (จีน เรียกว่า “ลือแจง”) เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อขึ้นชื่อ “เจ้าเจื๋องหาญ” ที่ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆในสิบสองปันนาปัจจุบันเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่ “หอคำเชียงรุ่ง” นาน 790 ปี

พร้อมกันนี้ ชาวไทลื้อ บางส่วนได้อพยพหรือถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองต่างๆเมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา ลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า ลาว และไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน ปัจจุบัน ชาวไทลื้อ ในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ และน่าน ซึ่งที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จะมีจำนวนชาวไทลื้อมากที่สุด

เมื่อ ชาวไทลื้อ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปยังที่ต่างๆ ก็ได้นำวัฒนธรรมและศิลปะของตนเองติดตัวมาด้วย บ้างก็ยังคงรักษาจารีตแบบเดิมเอาไว้ และบ้างก็เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น โดยวัฒนธรรมและศิลปะของชาวไทลื้อนั้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นในภูมิภาค คือ มีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน และใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งวัฒนธรรมไทลื้อที่โดดเด่นนั้นได้แก่ ภาษา ตัวอักษร ศาสนา ศิลปะการแต่งกาย อาหาร และประเพณี

“ภาษา” ชาวไทลื้อมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ภาษาไทลื้อจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท(ไต) ลักษณะเด่นของภาษาไทลื้อคือการเปลี่ยนแปลงเสียงสระภายในคำโดยการเปลี่ยนระดับของลิ้น ภาษาพูดของชาวไทลื้อนั้นเสียงบางเสียงจะแตกต่างไปจากภาษาไทยวน เช่น สระเอีย เป็น เอ เช่น เมีย เป็น เม สระอัว เป็น โอ เช่น ผัว เป็น โผ สระเอือ เป็น เออ เช่น เกลือ เป็น เกอ เสียงวรรณยุกต์ของไทลื้อมี 6 เสียง เหมือนภาษาไทยวน แต่มีลักษณะแตกต่างไป คำศัพท์ที่ใช้ในภาษาไทลื้อมักเป็นภาษาถิ่นตระกูลไทหรือคำศัพท์ไทดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีความหมายซับซ้อนมากนัก ส่วน “อักษร” มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ อักษรไทลื้อดั้งเดิม จะมีลักษณะเหมือนกับอักษรธรรมล้านนาหรืออักษรยวน ซึ่งไทลื้อรับผ่านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากล้านนา และอักษรไทลื้อใหม่ ประยุกต์อักษรไทลื้อเป็น abugida ใช้ในการเขียนภาษาไทลื้อ New Tai Lue ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในประเทศจีนในทศวรรษ 1950 โดยมีพื้นฐานมาจากตัวอักษร Tai Tham หรืออักษรธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมที่พัฒนาขึ้น

ด้าน “ศาสนา” ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆแทบทุกชุมชน ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นอยู่เพียงบางแห่ง เช่น วิหารวัดดอนมูล วิหารวัดหนองแดง วิหารวัดหนองบัว วิหารวัดท่าฟ้าใต้ วิหารวัดแสนเมืองมา(วัดมาง) และวิหารวัดหย่วน เป็นต้น เรื่อง “ศิลปะ” ชาวไทลื้อโดดเด่นที่งานผ้าทอ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า “ลายเกาะ” ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล สำหรับ “การแต่งกาย” ผู้ชาย จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า “เสื้อปา” สวมกางเกงหม้อห้อมขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า “เต๋วหัวขาว” นิยมโพกศีรษะ ด้วยผ้าสีขาว สีชมพู และผู้หญิง นิยมสวมเสื้อปั๊ด เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง นุ่งต๋าลื้อ สะพายย่าม และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู

อาหารไทลื้อ

ในเรื่องของ “อาหาร” ชาวไทลื้อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กินข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารที่นิยมมักจะเป็นแกงผัก ประกอบจากผักและอาหารที่หาได้ง่าย เช่น เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง หรือสาหร่ายน้ำจืด ใช้พริกแกงเป็นเครื่องปรุงหลัก ประกอบไปด้วย พริก ตะไคร้ หอม กระเทียม และปลาร้า หากเป็นอาหารประเภทหน่อไม้จะใส่น้ำปู๋ลงไปด้วย เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ เป็นต้น อาหารของชาวไทลื้อจะไม่ค่อยมีส่วนผสมของไขมัน และ “ประเพณี” ของชาวไทลื้อ ที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ ก็มีอาทิ พิธีเลี้ยงผีอารักษ์ เรียกว่า เข้าก๋ำหรือเข้ากรรม มีตั้งแต่ก๋ำเฮือนหรือกรรมเรือน ไปจนถึงก๋ำเมืองหรือกรรมเมือง

“ไทลื้อ” ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ไทลื้อ เชียงของ “ชุมชนไทลื้อบ้านศรีดอนไชย” ตำบลศรีดอนชัย ซึ่งเดิมทีชาวไทลื้อในหมู่บ้านศรีดอนชัยนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่สิบสองปันนา ต่อมาการทำมาหากินเริ่มฝืดเคืองเพราะมีประชากรมากขึ้นแต่ทรัพยากรลดลง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2428 ได้มีการอพยพโดยการนำของ “พญาแก้ว” ออกมาจากเมืองอูเหนือไปยังดอยหลักคำที่ตั้งอยู่ในเขตจีน-ลาว อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของในปัจจุบัน และย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ทุ่งหมดตำบลสถาน และแยกย้ายกันไปอยู่ที่ต่างๆออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยเมี่ยง บ้านห้วยเม็งในปัจจุบัน นำโดยพญาหงส์คำและพญาจันต๊ะคาด กลุ่มที่สอง กลับไปประเทศลาวไปอยู่ที่บ้านโป่งและบ้านท่าฟ้า นำโดยพญาผัดดี และกลุ่มที่สาม ไปอยู่ที่บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น พ่อกำนันเสนา วงศ์ชัย อดีตกำนันม่วงยาย เลยพาลูกบ้านอพยพมาทำมาหากินและได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาริมหมู่บ้านศรีชัยมงคล ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ในครั้งแรกมีบ้านเพียง 8 หลัง ต่อมามีคนอพยพมาจากบ้านก้อนตื่นประเทศลาวมาสมทบ ในปีพุทธศักราช 2496 ชาวบ้านท่าข้ามจำนวนหนึ่งได้ย้ายจากบ้านไร่ปลายนามาสร้างบ้านอยู่ตามแนวพหลโยธินระหว่างอำเภอเทิง-อำเภอเชียงของ และในอีก 5 ปีต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นหมู่บ้านศรีดอนชัย

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ
พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ
พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ

ไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ , เฮือนไทลื้อ 100 ปี “เฮือนเอื้อยคำ” และกลุ่มผ้าทอไทลื้อ แม่ดอกแก้ว

“พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปะลวดลายบนผืนฝ้าที่มีคุณค่าดุจทองคำของชาวไทลื้อเอาไว้ โดยคุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่จัดสร้างพิภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมา ไว้เก็บรักษาผ้าทอไทลื้อ เพื่อสืบทอดให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบไป พร้อมกันนี้ที่นี่ยังมีร้านกาแฟที่มีทิวทัศน์ของบ้านศรีดอนชัยให้ได้นั่งจิบกาแฟอีกด้วย

ฮือนไทลื้อ 100 ปี “เฮือนเอื้อยคำ”
ฮือนไทลื้อ 100 ปี “เฮือนเอื้อยคำ”

เฮือนไทลื้อ 100 ปี “เฮือนเอื้อยคำ” เป็นเรือนไม้แบบไทลื้อ เจ้าของคือคุณธนนิตย์ และสหัสชายา นุชเทียน แต่เดิมบ้านหลังนี้ได้เปิดบ้านด้านล่างเป็นร้านค้าขายของชำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 มีการขยายถนน เจ้าของได้รื้อเพิงร้านค้าด้านหน้าออก ประกอบกับค้าขายไม่ดี เพราะมีตลาดนัดเข้ามาในชุมชน และมีห้างใหญ่มาเปิดที่เชียงของ จึงหยุดขายของชำ เปลี่ยนไปค้าขายผ้าทอของชุมชนแทน และได้เปิดบ้านด้านล่างโล่งจนเห็นตัวบ้านชัดเจน โดยเฉพาะเสาไม้ทรงกลมจำนวนมากที่หาชมยาก เป็นที่สะดุดตาของผู้คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา และแวะมาชมและ “กลุ่มผ้าทอไทลื้อ แม่ดอกแก้ว” เป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าไทลื้อซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยเป็นผ้าทอไทลื้อที่ย้อมสีจากธรรมชาติ

กลุ่มผ้าทอไทลื้อ แม่ดอกแก้ว

“ไทลื้อ” อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ไทลื้อ เชียงคำ มีประวัติการอพยพมาในปี พ.ศ.2331 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้ให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ไปตีเมืองเชียงตุง และได้กวาดต้อนชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ประเทศพม่า กับ ชาวไทลื้อ จากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน อันประกอบด้วยเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน เมืองแมน เมืองล้า และเมืองอู แต่ละเมืองก็มีเจ้าผู้ครองนครปกครองอยู่ บรรดาผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาให้มาอยู่เมืองเชียงม่วน (อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา) โดยมีเจ้าผู้ครองนครที่ทรงพระนามว่าพญาคำและพญาธนะรวมอยู่ด้วย และมีความเห็นว่า อันเมืองเชียงม่วนนี้ จะทำอาชีพใดหรือการเกษตรก็ไม่ค่อยที่จะได้ผลดีนัก จึงขออนุญาตเจ้าเมืองน่านอพยพผู้คนเข้ามาอยู่เมืองเชียงคำ (อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) และได้ตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านมาง” โดยได้เอาชื่อเมืองมางที่เคยอยู่ในอดีตมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน

ไทลื้อ อำเภอเชียงคำ ได้ตั้งหมู่บ้านที่ใช้ชื่อเมืองที่อยู่เดิมมาตั้งชื่อ อาทิ บ้านหย่วน บ้านมาง บ้านเชียงคาน และบ้านล้า เป็นต้น พร้อมกันนี้ ไทลื้อ อำเภอเชียงคำ ที่อพยพมาจากเมืองปัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือเจ้าหลวงเมืองล้า มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงคำ เลือกเอาบริเวณที่ห้วยแม่ต๋ำไหลมาบรรจบกันกับแม่น้ำแวนเป็นที่ทำกิน หลังจากนั้นก็มีการขยายชุมชนออกไปตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของห้วยแม่ต๋ำ และการขยายตัวครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2460 ได้ไปตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแวน ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านแวนพัฒนา หมู่ 5 ตำบลเชียงบาน ไทลื้อกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน

สำหรับชุมชนไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน วัดแสนเมืองมา เฮือนไตลื้อแม่แสงดา และกะละแมโบราณเมิงมาง สูตรเฉพาะไทลื้อ

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน
ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน
ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน

“ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน” ตั้งอยู่ที่วัดหย่วน เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2536 ด้วยความประสงค์ของพระครูสุภัทร พรหมคุณ เจ้าอาวาสวัดหย่วน ที่ต้องการให้กลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านย้ายไปทอผ้าในวัดหย่วน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้า เนื่องจากการทอผ้าได้เริ่มสูญหายไปจากในชุมชน และในช่วงเวลานั้น ส.ส. ลัดดาวรรณ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกของรัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปัญญารชุน ซึ่งเป็นคนบ้านหย่วน ได้เข้ามาช่วยผลักดันการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อขึ้น โดยศูนย์ฯแห่งนี้เป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรมและฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าทอไลลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า และลายดอกตั้ง เป็นต้น

วัดแสนเมืองมา
วัดแสนเมืองมา
วัดแสนเมืองมา

“วัดแสนเมืองมา” ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 รูปแบบของวิหารสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อผสมผสานกับสถาปัตยกรรมล้านนาอย่างลงตัว หลังคาเป็นแบบ 2 ชั้นลดหลั่นกัน 2 ระดับ หลังคามีลักษณะโค้งลาดต่ำคลุมพระวิหารมุงด้วยแป้นเกล็ด ช่อฟ้าทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปหงส์ตามแบบศิลปะไทลื้อ หน้าบันประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายเป็นรูปเทพพนมรายล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองมีลักษณะเด่นคือ สร้างตามพุทธศิลป์ที่เป็นจารีตนิยมของไทลื้อ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปมีพระเมาลีเป็นรูปเปลวเพลิง (สัญลักษณ์ของการตรัสรู้) พระกรรณยาวจรดพระอังสะ (แสดงถึงพระปัญญาคุณ) พระพักตร์ทรงเหลี่ยมแย้มสรวล อิ่มเอิบ (แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ) และพระพักตร์ดูอ่อนเยาว์ (แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ) ภายในวิหารนี้ยังมีธรรมาสน์ แบบจารีตดั้งเดิมของไทลื้อที่สร้างขึ้นมาพร้อมพระวิหาร สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่บนฐานอิฐก่อสูงมีผนังไม้ทึบรอบทั้งสี่ด้าน ลักษณะผายออก รอบนอกประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษามีบันไดและทางขึ้นอยู่ด้านหน้า ใช้สำหรับพระภิกษุสามเณรแสดงธรรมเทศนา และบนผนังรอบๆ วิหาร มีรูปประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ ที่เดินทางอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลา 200 กว่าปีมาแล้ว

เฮือนไทลื้อแม่แสงดา
เฮือนไทลื้อแม่แสงดา
เฮือนไทลื้อแม่แสงดา
เฮือนไทลื้อแม่แสงดา

“เฮือนไทลื้อแม่แสงดา” เป็นเรือนไม้ลักษณะบ้านไทลื้อโบราณ มีอายุราวๆ 70 กว่าปี สร้างโดยแม่แสงดา สมฤทธิ์ ลักษณะเรือนเป็นเรือนใต้ถุนสูง ด้านบนมีชานเรือน การจัดแสดงครัวไฟ (ห้องครัว) ของไทลื้อ และห้องนอน พร้อมกันนี้มาที่นี่ยังจะได้อิ่มอร่อยไปกับโตกอาหารไทลื้อ ที่มีเมนูเด็ดมากมายตามแบบฉบับไทลื้อ อาทิ “ข้าวแคบ” ข้าวเกรียบทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่งา ของกินเล่นรสเค็มๆมันๆ กินอร่อยกับ “ขนมปาด” ขนมสีน้ำตาลหน้าตาคล้ายขนมเปียกปูน รสหวานหอมน้ำอ้อย , “น้ำหนัง” ข้าวเกรียบที่ทำจากหนังวัวหรือหนังควาย , “จิ้นซ่ำพริก” คล้ายคั่วกลิ้ง ทำจากเนื้อหมูตากแห้งฉีกเป็นเส้นโขลกกับเครื่องแกง , “แอ่งแถะ” วุ้นสีเขียวทำจากใบหมาน้อย ปรุงรสด้วยพริกป่น ถั่วป่น ปลาแห้งป่น และมะกอก , “ปลาปิ้งอบ” เนื้อปลาดุกแล่ใส่พริกแห้ง ตะไคร้ กระเทียม หอมแดงโขลก มัดด้วยตอกแล้วเอาไปปิ้ง และ “แกงฮังเล” เป็นต้น (แต่อาหารข้างต้นนี้ ท่านใดสนใจรับประทานต้องสั่งจองล่วงหน้า ที่โทรศัพท์ 088-2675101)

กะละแมโบราณเมิงมาง
กะละแมโบราณเมิงมาง

ไทลื้อ เชียงคำ นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวและวิถีไทลื้อให้สัมผัสแล้ว ยังมี “ของฝาก” ให้หิ้วกลับไปอีกด้วย กับ “กะละแมโบราณเมิงมาง” สูตรไทลื้อ ซึ่งกะละแมโบราณนี้ทางกลุ่มได้พัฒนาสร้างสรรค์จากขนมปาด ใช้วิธีกวนเหมือนกันส่วนผสมคล้ายกัน ต่างกันที่ขนมปาดใช้แป้งข้าวเจ้าส่วนกะละแมใช้แป้งข้าวเหนียว ขนมปาดมีสีจากน้ำอ้อน กะละแมมีสำดำจากกาบมะพร้าวเผา โดยส่วนประกอบที่สำคัญของกะละแมโบราณ ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล สีจากกาบมะพร้าวเผา เกลือ น้ำเปล่า และผ่านกระบวนการการผลิตที่เน้นความดั้งเดิมแบบโบราณ ที่จะเผากาบมะพร้าวให้เป็นสีดำ นำมาผสมในเนื้อกะละแม ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่ใส่สี และไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์

วัดท่าฟ้าใต้

“ไทลื้อ” อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
ไทลื้อ เชียงม่วน บ้านท่าฟ้าใต้ เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน มี “วัดท่าฟ้าใต้” เป็นศูนย์รวมจิตใจ วัดนี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบของศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากสิบสองปันนา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2311 โดยครูธรรมเสนา และพ่อเฒ่าแสนอัฐิ ผู้นำชาวไทลื้อซึ่งอพยพมาจากสิบสองปันนา วิหารมีลักษณะก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคา 3 ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ด ชั้นที่ 1 เป็นแบบปั้นหยาครอบตัววิหารทั้ง 4 ด้าน ชั้นที่ 2 และ 3 เป็นทรงแบบปราสาทมีหน้าบันทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก หน้าบันเป็นลายเครือเถาแบบไทลื้อที่ประยุกต์ลายมาจากธรรมชาติ มีลายดอกไม้บานอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยกระจกเงา โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนความชั่วร้ายมิให้มาทำร้ายได้ ใบระกาเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพญานาค เชิงชายฉลุลายน้ำหยด เอกลักษณ์ของไทลื้อ มีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน

ชาวไทลื้อนับถือหงส์และช้าง ซึ่งถือเป็นสัตว์ชั้นสูงมาจากสวรรค์ จึงนำช้างและหงส์มารวมเป็นตัวเดียวกัน ให้ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์ แกะด้วยไม้สักทอง เป็นช่อฟ้า เรียก “นกหัสดีลิงค์” มีความงดงามแปลกตา เชื่อกันว่าสร้างโดยช่างชาวไทยลื้อที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว

ภายในวิหารมีองค์พระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้ประดู่ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากแคว้นสิบสองปันนา ประดิษฐานบนฐานชุกชี ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมศิลปะไทลื้อ ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเครือเถา ลงรักปิดทอง ประดับกระจก มีแท่นธรรมาสน์ ลักษณะคล้ายมณฑปหรือปราสาท ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมยี่สิบชั้น ประดับลายปูนปั้นรูปเครือเถาและสัตว์ต่างๆ มีลักษณะเด่นคือลวดลายดอกไม้ที่แพรวพราวไปด้วยกระจก ประดับหลากสี

โดย “วัดท่าฟ้าใต้” แห่งนี้จะมีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีตาลตุงไทลื้อ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสงกรานต์ของทุกปี

วัดท่าฟ้าใต้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *