เปิดเวทีสภาผู้บริโภคเชียงใหม่ “ชาวเชียงใหม่ช่วยกัน เฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย และโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย”

สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดย นางลำดวน มหาวัน หัวหน้าหน่วยจัดการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม สภาผู้บริโภคเชียงใหม่ครั้งที่ 1/2565 “ชาวเชียงใหม่ช่วยกัน เฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย และโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” ขึ้น ณ ห้องประชุมมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สำนักงานภาคเหนือ โดยมี นางรจนา ยี่บัว เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นผู้เสนอเปิดสภาผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงภัยจากยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม

นางรจนา ยี่บัว เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า คนไทยเจ็บป่วย เสียชีวิต จากสารปนเปื้อนใน “ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม” ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ซึ่งเกิดจากการใช้ยาเป็นเวลานานจะเกิดอาการบวม เลือดออกในกระเพาะอาหาร ไตวาย และเสียชีวิต หากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ “ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ไม่สามารถสร้างกลไกการเฝ้าระวังและเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าคนไทยจะเผชิญปัญหาร้ายแรงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ที่ผสมสารอันตราย หรือด้อยคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นความจำเป็นและสำคัญ

จากการดำเนินแผนงานเฝ้าระวังและเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม “ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม” ที่มีสารปนเปื้อนในชุมชน โดยร่วมกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเภสัชสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่ 8 อำเภอ อันได้แก่ อำเภอสันกำแพง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอสันทราย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอเมือง และอำเภอหางดง พบว่ามีการลักลอบจำหน่าย ในร้านขายของชำและตลาดนัด ที่สำคัญบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้จำหน่ายเอง ขณะเดียวกันมีการโฆษณาและจำหน่ายยาอันตราย เช่น แก้ปวดเมื่อยลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ และลดความอ้วนใส่สารไขบูทรามีน เป็นต้น

ปัจจุบันยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมที่ด้อยคุณภาพ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้มีช่องทางการเข้าถึงง่ายและพัฒนาการตลาดในรูปแบบใหม่ ทั้งทางไปรษณีย์และตลาดออนไลน์ มาในรูปแบบแอปปิเคชั่นใหม่ๆ และสั่งซื้อได้ง่าย หรือจำหน่ายโดยผ่านผู้มีประสบการณ์ใช้และบอกต่อเพื่อนบ้านในชุมชน หน่วยงานหลักที่กำกับดูแล มีข้อจำกัดหลายด้าน ตลอดจนกฎหมายที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมในท้องตลาดได้อย่างทั่วถึง เรามักจะเห็นข่าวที่ปรากฏ คนไทยเจ็บป่วย เสียชีวิต จากสารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม

จากข้อมูลที่หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียน ผลการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียน จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2564 – 30 เมษายน 2565 ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีจำนวนเรื่องร้องเรียน 65 เคส และการดำเนินงานเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของแกนนำพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยไม่มีเลขทะเบียนและมีสเตียรอยด์ระบาดในพื้นที่ชุมชน ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการใช้สเตียรอยด์ ซึ่งจากการลงพื้นที่เยี่ยมของเจ้าหน้าที่และแกนนำผู้บริโภคในพื้นที่ ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์ โดยได้ส่งตรวจและแจ้งไปยัง สสจ. และได้จับกุมแหล่งผลิตกรณี “ปู่แดง” ตามข่าว

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะการเปิดสภาผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการปัญหา เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย โดย 1.จัดการแก้ไขโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างจริงจัง 2.เพิ่มกลไกในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามร่วมกันในพื้นที่ โดยมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 3. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และ 4. สนับสนุนให้มีพื้นที่การทำงานที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย และโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย และขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *