“ปางปูเลาะ” ตำนานการเดินทางจากจีนสู่ไทยของชาวเมี่ยน
กว่า 100 ปีมาแล้ว ที่ตำนานการเดินทางจากจีนสู่ไทยของชาวเมี่ยนหรือชาวเย้า แห่ง “บ้านปางปูเลาะ” ยังคงขับขานอยู่ ที่นี่อุดมไปด้วยความสวยงามทางวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น สวนลิ้นจี่ ไร่กาแฟ อากาศเย็นสบายทั้งปี และทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้น่ามาเที่ยวมิใช่น้อย
“บ้านปางปูเลาะ” ตั้งอยู่ตำบลศรีย้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เดิมมีชื่อว่า “บ้านปู่ล่อ” ตั้งตามชื่อของพ่อค้าชาวจีน คือ นายปู่ล่อ ต่อมาชื่อหมู่บ้านได้เพี้ยนไป เรียกใหม่ว่า “บ้านปางปูเลาะ” โดยได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ในปีพ.ศ. 2513 หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านในตำนานการเดินทางกว่า 100 ปี จากจีนสู่ไทยของชาวเมี่ยนหรือชาวเย้า ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน เดิมรวมอยู่บ้านผาแดง และประชากรของหมู่บ้านส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านป่าคา ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ใน บริเวณห้วยหาญฟ้า ในปี พ.ศ.2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ได้ย้ายเข้ามาในพื้นที่ปัจจุบันคือ บ้านปางปูเลาะ โดยมีนายเลาเหลอ แซ่จ๋าว เป็นผู้นำ
เรื่องราวของ บ้านปางปูเลาะ ถูกถ่ายทอดให้เป็นที่รู้จักภายใน “ศูนย์วัฒนธรรมบ้านปางปูเลาะ” ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยแรกเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาในแผ่นดินไทย จากสาเหตุของความยากจนและภัยสงคราม โดยชาวเมี่ยนในประเทศจีนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ เผ่าเปี้ยน เผ่าปูนู เผ่าฉาชัน และเผ่าผิงตี้ ชาวเมี่ยนเผ่าเปี้ยนมีประชากรมากที่สุด เป็นกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาเป็นระยะทางไกล และกระจายกันอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง
การเดินทางจากจีนสู่ประเทศไทยของชาวเมี่ยนเผ่าเดิมมี 12 สกุล มีการบันทึกเส้นทางการอพยพในหนังสือเดินทางลงจากภูเขาของบรรพชนทั้ง 12 สกุล ที่ตำบลจงหอเชียง อำเภอปกครองตนเองชนชาติเย้าเจียงหัว มณฑลฮูหนาน ถิ่นเดิมของชนชาติเมี่ยนอยู่ที่หนานไห่ ผูเฉียวโถว จากตำนานชาวเมี่ยนบางเผ่าที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของทะเลสาปต้งถิงหู มีเรื่องเล่าว่าบรรพชนของพวกเขาย้ายมาจาก ผูเฉียวโถว แถบฝั่งเหนือของทะเลสาบต้งถิงหู จึงสันนิษฐานได้ว่า หนานไห่ น่าจะหมายถึง ทะเลสาบต้งถิง
จึงสันนิฐานได้ว่าราวศตวรรษที่ 15-16 ชาวเมี่ยนเผ่าเปี้ยนทั้ง 12 สกุล ข้ามทะเลสาบอพยพเข้ามาสู่ภาคเหนือของเวียดนาม ผ่านประเทศลาวและอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงรายและน่าน ต่อมามีการแยกย้ายกันตั้งถิ่นฐานไปยังจังหวัดพะเยา โดยมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อพยพมาจากเชียงรายจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.แม่ใจ คือ บ้านปางปูเลาะและบ้านผาแดง ส่วนที่อพยพโดยตรงมาจาก สปป.ลาว จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ปง และ อ.เชียงคำ
ชาวเมี่ยน ในเอกสารบันทึกของจีน สมัยราชวงศ์ถัง ได้รับการจัดให้อยู่ในเชื้อชาติ มองโกลอยด์ ตระกูลจีนธิเบต โดยปรากฏในชื่อ “ม่อเย้า” มีความหมายว่า ไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด โดยเมื่อประมาณ 2000 กว่าปีมาแล้ว บรรพชนชาวเมี่ยนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบรอบทะเลสาบต้งถิง แถบแม่น้ำแยงซี ไม่ยินยอมอยู่ภายใต้การบังคับกดขี่ของรัฐ จึงได้ทำการอพยพเข้าไปในป่าลึกบนภูเขาสูง ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อปกป้องเสรีภาพ จึงถูกขนานนามว่า “ม่อเย้า” ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง คำเรียกนี้ถูกยกเลิกไปเหลือแต่คำว่า “เย้า” เท่านั้น ต่อมาคำว่า “เย้า” ปรากฎในเอกสารจีน เมื่อประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งมีความหมายว่า ป่าเถื่อนหรือคนป่า ในประเทศจีนชนชาติเย้า มีคำเรียกขานชื่อของตนเองแตกต่างกันถึง 28 ชื่อ แต่คนเย้าในประเทศไทย เรียกตัวเองว่า เมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยน มีความหมายว่า “มนุษย์” ภาษาที่ใช้ในปัจจุบันเป็นภาษาถิ่นมี 3 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาปูนู และภาษาลักจา
ปัจจุบันหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน ณ บ้านปางปูเลาะ แห่งนี้ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนลิ้นจี่และไร่กาแฟ ในหมู่บ้านมีทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี เดินทางได้สะดวก ในหมู่บ้านมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าเมี่ยน ซึ่งเป็นที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องปะดับ เครื่องมือเกษตร อุปกรณ์และเครื่องมือล่าสัตว์ รวมถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน สวนลิ้นจี่ที่ปลูกสลับกับกาแฟตามเชิงเขา โดยทั้งลิ้นจี่และกาแฟ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอแม่ใจ สามารถเข้าไปเที่ยวชมสวนได้ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ที่นับเป็นช่วงเวลาเหมาะสม ลิ้นจี้ออกผลสามารถเลือกชิมสดๆได้จากต้นและหาชื้อได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังมีถ้ำประกายเพชรที่มีหินงอกหินย้อย มีน้ำหยดลงมาจากเพดานถ้ำ ทำให้เกิดประกายระยิบระยับสวยงาม รวมทั้งชมทิวทัศน์บนผาแดง ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะได้ชมดอกเสี้ยวบานสะพรั่งทั่วหุบเขา พร้อมกันนี้ที่บ้านปางปูเลาะยังมีบริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
งานนี้สนใจมาเที่ยวบ้านปางปูเลาะ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ก็มากันได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย โทรศัพท์ 053-717433 หรือ TAT Center โทรศัพท์ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ facebook.com/ททท.สำนักงานเชียงราย-พะเยา