“ดอกลมแล้ง” ลมแล้งพามา สรรพคุณทางตาดูแล้ว “สุข”

ว่ากันว่า “สรรพคุณทางตา” ของ “สีเหลือง” นั้น เมื่อได้มองแล้ว จะก่อให้เกิด “ความสุข” นำมาซึ่งความสดใสร่าเริง ความปลื้มปิติ ความสดใหม่ ชีวิตใหม่ และความเบิกบาน เป็นเช่นนี้แล้ว ในฤดูแล้งเช่นนี้ ประกอบกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ทั้งฝุ่นควัน PM 2.5 และโควิด-19 ที่ก่อให้เกิด “ทุกข์” เรามาดับทุกข์ด้วยการมองสีเหลืองของ “ดอกล้มแล้ง” กันดีกว่า!!!

ซึ่ง “ดอกลมแล้ง” เป็นชื่อเรียกของ “คนเหนือ” ที่ใช้เรียก “ดอกราชพฤกษ์” (Golden shower) ดอกไม้ประจำชาติไทย เป็นดอกไม้สีเหลืองอร่าม เป็นต้นไม้มงคลที่เชื่อว่า ปลูกไว้แล้วจะเสริมให้คนในบ้านมีเกียรติยศชื่อเสียงมากขึ้น ซึ่ง “ต้นราชพฤกษ์” เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา นิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาหลายสิบปี โดยได้มีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และได้การลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544

เหตุที่ “ดอกราชพฤกษ์” เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยนั้น ก็ด้วย เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลาย มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญๆของไทย เป็นต้นไม้มงคล ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีสีเหลืองอร่ามพุ่มงามเต็มต้น เปรียบดั่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา และมีอายุยืนนาน ทนทาน

ชื่อของราชพฤกษ์ มีการเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเรียกราชพฤกษ์ว่า “คูน” เนื่องจากจำง่าย ทางภาคเหนือเรียกว่า “ลมแล้ง” ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร และทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ

คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า “ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น” พร้อมกันนี้ คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูง และยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม

สำหรับ “ดอกลมแล้ง” กับคนล้านนานั้น “อาจารย์สนั่น ธรรมธิ” สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยเขียนไว้ว่า “พรรณไม้นานาที่มีความเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของคนล้านนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม้บางประเภทมีบทบาทด้านพิธีกรรมความเชื่อ บางประเภทเป็นเครื่องหอมจรุงใจ ประดับกายให้สวยสดใส กล่าวถึงดอกไม้ ไม่ว่าเฉพาะแต่ดอกไม้ที่เป็นดอกไม้นามปีเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญในช่วงปี๋ใหม่ เช่น ดอกไม้เครื่องหอมที่ใช้แช่น้ำร่วมกับฝักส้มป่อย ได้แก่ ดอกประยงค์ ดอกสารภี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ที่เป็นที่นิยม อาทิ จำปา จำปี มหาหงส์ พุดซ้อน มะลิ ดอกไม้เหล่านี้ล้วนมีกลิ่นหอมใช้เป็นเครื่องสักการบูชา ใช้เสียบแซมประดับผมหรือกรองร้อยเป็นมาลัยห้อยคอ โดยเฉพาะดอกมะลิ ดูจะเป็นที่นิยมกันมาก ดอกไม้ที่ผลิดอกออกตามฤดูกาลในช่วงสงกรานต์ซึ่งบานสะพรั่งได้แก่ ลมแล้ง (ราชพฤกษ์) ซอมภอหลวง (หางนกยูงฝรั่ง) ตะแบก เอื้องหรือกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ดอกไม้เหล่านี้มีสีสันสดใสใช้ประดับพาหนะ เคหสถาน ใช้ประกอบเครื่องสักการะสระเกล้าดำหัวผู้ใหญ่ ไปไหนมาไหนจะพบเห็นดอกไม้เหล่านี้เต็มไปหมด จึงไม่แปลกที่มีบางคนคิดว่าดอกไม้ดังกล่าวเป็นดอกไม้แห่งปีใหม่สงกรานต์ไปด้วย”

ณ ห้วงเวลานี้ “ดอกลมแล้ง” ได้เปร่งสีเหลืองอร่าม สร้างความสุขให้ผู้ที่ได้พบเห็นแล้ว ซึ่งจะสุขมากหรือน้อยนั้น มันก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เอาเป็นว่า แม้ในภาวะวิกฤตบ้านเมืองเช่นนี้ “ธรรมชาติ” มันก็ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ของมันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และตรงเวลาเสมอ แล้วคุณละ!!! ในวิกฤตเช่นนี้ทำหน้าที่ของคุณดีหรือยัง!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *