“นักสิทธิมนุษยชน” มองอย่างไร? กับการแก้ปัญหาโควิด-19

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมในหลายๆด้าน ด้านหนึ่งนั้นก็คือ “ด้านสิทธิมนุษยชน” ที่มาตราการในการแก้ไขปัญหาบ้างข้อนั้นอาจจะไปกระทบกับความเป็นมนุษยบ้าง เป็นอย่างไรนั้นเรามาดูมุมมองและแง่คิดของนักสิทธิมนุษยชน “นายนิกร วีสเพ็ญ” ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) กันดู

“นายนิกร วีสเพ็ญ” ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

ถาม : การจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด อย่างไร ภาคเอกชนหรือองค์กรต่างๆมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหานี้มากน้อยเพียงใด อย่างไร และในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอแนะหรือแนวทางเช่นไร ในการที่จะจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้หรือโรคระบาดอุบัติใหม่ต่างๆที่หากเกิดขึ้นในอนาคต ที่ไม่ให้กระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือกระทบน้อยที่สุด???

ตอบ : ประเทศไทยมีการจัดการป้องกันโรคระบาดดีกว่าประเทศอื่น ดังที่มีการพูดกันอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะในเรื่องการให้บุคลากรทางการแพทย์ออกมามีบทบาทนำแทนการนำของรัฐบาลในการป้องกันไทยได้ให้การรักษาทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ มีภาคประชาชนและเอกชนช่วยกันแจกจ่ายแบ่งปันอาหารการกิน บรรเทาความหิว ลดความตึงเครียดไปได้มาก และสิ่งที่เรามีคือ อสม.ซึ่งทำงานประชิดตัวชาวบ้าน ตรวจสอบทุกครัวเรือนที่ป่วย และคนที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ช่วยให้การกักตัว 14 วันมีความเป็นจริงมากขึ้น อสม.ได้ช่วยไล่ล่าโควิด ไม่ให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นการทำงานเชิงรุก เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์

และต้องขอชมเชยเจ้าของกิจการโรงแรมและอีกหลายที่ ที่เปิดห้องพักให้ผู้ติดเชื้อและแพทย์ พยาบาลได้พักกักตัว ตัดตอนการแพร่ระบาดลงไปได้มาก ส่วนทางองค์กร NGOs ดังเช่น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ช่วยระดมความช่วยเหลือ สมาชิกของเราได้ช่วยกับนักธุรกิจแจกจ่ายอาหารของใช้จำเป็น กรรมการช่วยประสานแจกจ่ายหน้ากากผ้าสำหรับผู้ใหญ่และเด็กไปยังเขตชุมชนแออัดและส่งไปจังหวัดต่างๆหลายหมื่นชุด ส่วนผม (นิกร) ช่วยประสานความช่วยเหลือในจังหวัดอุบล ทำรายการวิทยุขอความร่วมมือประชาชนในหลายจังหวัดป้องกันตัวเองในหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนั้น สสส.ยังได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยนักโทษในเรือนจำที่อยู่กันอย่างแออัด (ไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับ 1 ของ ASEAN และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย) เสี่ยงกับการระบาดหนักในเรือนจำ ซึ่งไม่มีระยะห่าง physical distancing อยู่แล้ว เสี่ยงกับการมี super spreader ง่ายมาก สสส.เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษอย่างมียุทธิศาสตร์ คือ ปล่อยนักโทษที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี นักโทษที่อายุเกินกว่า 60 ปี และโดยใช้กำไล EM ในการตรวจสอบนักโทษบางคนบางประเภทแทน โดยจะต้องไม่ลืมดูแลผู้ถูกจับกุมคุมขังที่กองตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งด้วย จึงขอเพิ่มเติมด้วยว่าหากมีการปล่อยตัวนักโทษออกไปก็ต้องขอความร่วมมือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เป็นหูเป็นตาให้ด้วย ไม่ให้นักโทษกระทำผิดซ้ำ (ซึ่งสถิติราชทัณฑ์ถือว่าเป็นจำนวนน้อย แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย)

สำหรับข้อที่ควรปรับปรุง รัฐบาลไทยโชคดีกว่าประเทศอื่น ที่มีภาคเอกชน ประชาสังคม และสื่อสาธารณะ ให้ความร่วมมือช่วยเหลืออย่างมาก โรคระบาดระดับนี้ลำพังรัฐบาลคงเอาไม่อยู่แน่นอน ดังนั้นรัฐต้องเอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีกำลังใจและมีความหวัง รัฐต้องกำชับตำรวจทหารให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชอบธรรม ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ยาก ยัดข้อหาประชาชน และอำนวยความสะดวกให้คนไทยในต่างแดน โดยเฉพาะมาเลเซียกลับประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ หรือเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า Fit to Fly หรือ Fit to Travel สร้างความยุ่งยาก ลำบาก คนไทยต่างแดนตกงาน หมดเงินหมดทองกับการรอคอย รัฐไทยต้องยอมให้คนไทยในมาเลเซียกลับมาบ้านได้ โดยที่ด่านชายแดนสามารถรองรับได้ ให้มีแพทย์ พยาบาลท้องถิ่นคอยตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจสุขภาพ นำไปกักตัวตามจุดต่างๆได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ การอำนวยความสะดวกควรยืนอยู่บนฐานสิทธิความเป็นคนไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็ให้ความช่วยเหลือกลับบ้านได้
แต่หากเห็นว่าคนไทยจำนวนหลายหมื่นคนจะทะลักกลับเข้ามาในช่วงเดียวกัน ก็อาจจะมีนโยบายดังที่ สส.อันวาร์ สาและ หรือนักการเมืองท้องถิ่นเสนอให้ส่งเงินไปให้คนไทยที่มาเลเซียคนละ 5000 บาท เพื่อให้เขามีเงินอยู่ที่มาเลเซียได้ระยะหนึ่งไม่ต้องรีบกลับมา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับมือกับการทยอยกลับมา ไม่หนักเกินไป

เรื่องการตรวจ DNA โดยใช้สำลีป้ายที่กระพุ้งแก้มคนมุสลิม ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในระยะโควิดระบาด เพื่อหาผู้กระทำผิด การกระทำแบบนี้ต้องยกเลิก เพราะเสี่ยงกับการติดโควิด ควรใช้วิธีอื่นในการตรวจหา แม้ประชาชนจะเซ็นยินยอมให้ตรวจได้ แต่ก็เป็นการเซ็นที่ไม่ได้ตั้งตัว และไม่สบายใจ เพราะไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะเอาไปทำอะไร ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ควรให้ทหารขี่มอเตอร์ไซด์ติดอาวุธ ไปแจกจ่ายของตามบ้าน แต่ควรให้พลเรือนทำหน้าที่นี้โดยมีทหารดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ และไม่นำเชื้อเข้าสู่ชุมชน

ส่วนการเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ควรจะพิจารณาบนฐานการแพทย์และทาง ศก.ควบคู่กันไป เพื่อให้ยกเลิก พรก.ฉบับนี้ เพราะต้องยกเลิกในไม่ช้าก็เร็ว ผู้บริหารประเทศทุกประเทต้องการให้มี พรก.ฉบับนี้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะช่วยควบคุมโรคได้ง่าย ทำให้การรักษาความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ก็ง่ายไปด้วย แต่ถึงที่สุดก็ต้องยอมรับความจริงว่าเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือกันเองนั้นจะไม่สามารถบริจาคเงิน แจกจ่ายอาหารได้ตลอดถึงสิ้นปี ทุกคนต้องแบกภาระของตนเอง ต้องเปิดโอกาสให้ทำมาหากินได้ด้วยตัวเอง หาเงินซื้ออาหารได้เอง นั่นหมายถึง ต้องยกเลิก พรก.ฉุกเฉินให้คนส่วนใหญ่ทำงานได้ (แม้ไม่ทั้งหมด)

ต้องทบทวนใหม่ว่า เรามีความจำเป็นต้องรีบเปิดสถานบันเทิงที่ไม่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่ รีบเปิดให้ขายเหล้าเบียร์ ได้อย่างอิสระก่อนธุรกิจอย่างอื่นด้วยเหตุผลอะไร ควรระมัดระวังการเปิดเสรีบนความสุ่มเสี่ยงสองระดับ คือการให้เสรีในการดื่มเพื่อทำลายสุขภาพ ลดภูมิต้านทานในการป้องกันโรคระบาด อีกประการหนึ่งทำให้คนขาดสติสัมปชัญญะไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเป็นภัยสังคมในยามกักตัว เช่น จำกัดการออกจากบ้าน แต่ยอมเปิดโอกาสให้ดื่มของเมา เสี่ยงกับการละเมิดทางเพศเด็กหรือผู้หญิงในบ้าน หรือเสี่ยงกับอุบัติเหตุได้ เป็นต้น

สำหรับผู้ใช้แรงงานที่ตกงานจำนวนมากควรจะได้เงินประกันสังคมโดยเร็ว รัฐต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบนายจ้างที่ยักยอกเงินลูกจ้าง ตรวจสอบการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว และให้ความช่วยเหลือพวกเขาเยี่ยงแรงงานไทย หามาตรการป้องกันไม่ให้อยู่กันอย่างแออัด และให้ความรู้เป็นภาษาเขมร พม่า ลาว และภาษาอังกฤษ อย่างทั่วถึง

จากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการข้างต้นแล้ว ยังเสนอว่าหากเกิดโรคระบาดเช่นนี้อีก

1.ทบทวนการออก พรก.ฉุกเฉิน ให้ใช้ในระยะสั้นเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เสี่ยงกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป หรืออาจจะไม่ต้องนำมาใช้เลย เพราะประเทศไทย มี พรบ.โรคติดต่อที่นำมาใช้ได้อยู่แล้ว ดังนั้น พ.ร.บ. ฉุกเฉินไม่ควรใช้แบบเหวี่ยงแห เพราะกระทบกับบางอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อประมงพื้นบ้าน หรือประมงขนาดเล็ก การห้ามออกจากบ้านสี่ทุ่มถึงตีสี่ขัดกับวิถีในการทำมาหากิน การหารายได้เลี้ยงครอบครัวของชาวประมง หรือการที่นายกรัฐมนตรีมีความคิดว่าควรติดกล้องที่ตู้ปันสุขเพื่อดูพฤติกรรมของคนที่มาเอาของว่าเอาไปมากน้อยเพียงใด ถ้ามีการติดตั้งขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นการละเมิดสิทธิ เพราะการทำเรื่องตู้ปันสุขเป็นการทำขึ้นมาเองของภาคประชาชน อาจมีผู้ว่าราชการบางจังหวัดทำขึ้นมาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ไม่ควรไปติดตั้งกล้องเพื่อจับพฤติกรรมของประชาชนที่เดือดร้องมาเอาของในตู้ไปรับประทาน คนส่วนใหญ่เอาของไปแต่พอดี มีบางที่ที่เป็นข่าวคือมีคนขับรถซาเล้งมาขนของไปหรือเอาไปมากๆเพื่อไปขายต่อ แต่คิดว่าน่าจะเป็นส่วนน้อย การป้องกันเพื่อไม่ให้คนเอาของไปเยอะๆ คือควรมีคนคอยบอกเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เผื่อแผ่ถึงคนอื่นที่เดือดร้อนด้วย ไม่ใช่การติดตั้งกล้องจับพฤติกรรมที่นายกคิด

2.รีบป้องกันการกักตุนอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด และการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อุดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการคอรัปชั่นในรัฐบาลและคนในวงการราชการ

3.ไม่ฉกฉวยหาผลประโยชน์ (ลักไก่) อนุมัติโครงการต่างๆที่เกิดในยามไม่ปกติ ประชาชนทุกข์ยากกับการแก้ปัญหาโรคระบาด ขาดการตรวจสอบ การรีบอนุมัติโครงการ หรือขออนุมัติโครงการ เพื่อใช้งบประมาณกับเขตนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โครงการขออนุมัติกรมป่าไม้ใช้พื้นที่ป่าสงวน 4,600 ไร่ตั้งกองพันต่อสู้อากาศยาน คุ้มกันนิคมมาบตาพุต-EEC การขอเลื่อนการ ban สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทุกโครงการที่สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน สร้างความตึงเครียดให้สังคม ขณะที่ทุกคนเครียดมากพออยู่แล้ว

และ 4.รัฐต้องใช้โอกาสนี้ตัดงบประมาณที่ไม่เป็นประโยชน์ ฟุ่มเฟือย เพื่อนำงบมาใช้กับการป้องกันโรคระบาดให้มากขึ้น ตัดกำลังคนในกระทรวง ทบวง กรม ตำรวจ และทหาร ที่มีจำนวนคนเกินปริมาณงาน หรือเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกนั่งกินเงินเดือนมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง กีดกันคนที่มีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในปีนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *