“อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” อุทยานแห่งการเรียนรู้
ในเรื่องการเรียนนั้น เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด” ซึ่งก็เป็นดังที่กล่าวไว้จริงๆ เนื่องด้วยบนโลกใบนี้ยังมีเรื่องราวที่เราไม่รู้อีกเยอะ ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นอาหารสมอง จะได้คุยกับเขารู้เรื่อง และวันนี้หากสนใจอยากเรียนรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และพลังงานทดแทน ต้องมาที่ ”อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร”
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระราม 6 อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งที่นี่สืบเนื่องจากวันที่ 14 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกป่าชายเลนชนิดต่างๆที่คลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมกับผู้กำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ ในขณะนั้น ให้ดำเนินการหาวิธีที่จะดูแลรักษาให้ต้นไม้ชายเลนที่ปลูกไว้นี้อยู่รอด และให้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนต่อไปในพื้นที่ที่เหลืออยู่ทั้งสองแห่ง ที่บริเวณคลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย และเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2541 ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงจักรยาน และทรงวิ่งออกกำลังพระวรกายบริเวณค่ายพระรามหก ได้ทอดพระเนตรสภาพดินและพื้นที่รกร้างที่มีคราบเกลือบนพื้นดิน จึงได้พระราชทานพระราชดำริกับท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ให้หาทางฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวและมีความสวยงาม ตามธรรมชาติเพื่อใช้เป็นพื้นที่นันทนาการและเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบ นิเวศที่ได้ปรับตัวหลังจากมีการปรับปรุงพื้นที่แล้ว
จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2543 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ” ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ ในปีพุทธศักราช 2546 โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานฯ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยมุ่งหวังว่าเมื่ออุทยานฯ แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระ นามาภิไธยเป็นนามอุทยานว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The Sirindhorn International Environmental Park) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดับตราสัญลักษณ์ของอุทยาน
ภายใน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ “ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” จัดตั้งขึ้นภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวด ล้อม ในอาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งห้องสมุดพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดล้วนนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระกียรติ , นิทรรศการเทคโนโลยีพลังงานควรรู้ , นิทรรศการรู้ค่าพลังงาน , นิทรรศการประหยัดพลังงานเราทำได้ , แหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง , แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ และสวนการเรียนรู้พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชน
นอกจากนี้ยังมีส่วนที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “สวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม” ซึ่งป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและปากคลองบางตราใหญ่ เดิมบริเวณนี้มีสภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด แต่ได้มีการบุกรุกทำลายและป่ามีสภาพเสื่อมโทรมลงจนเกือบหมดสภาพป่าธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีใจความโดยสรุป “ให้จัดการพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อนิเวศวิทยาป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ” หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นโกงกาง ที่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและคลองบางตราใหญ่ และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีที่จะดูแลรักษา ให้ต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้นี้ให้อยู่รอด และดำเนินการปลูกเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจุบันสภาพป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิ รินธร มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากขึ้น ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูน ตะบัน ตาตุ่มทะเล โพทะเล จิกทะเล ปรงทะเล ขลู่ ฯลฯ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติ สำหรับศึกษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนได้อีกแห่งหนึ่ง และช่วยปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของป่าชายเลน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
หรือทั้ง “ระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์” ซึ่ง บึงประดิษฐ์ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ ข้อดีของระบบนี้คือไม่ซับซ้อนและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีในการบำบัดสูง มีประสิทธิภาพในการบำบัดสารอินทรีย์ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ของแข็งแขวนลอย และโลหะหนัก ได้ดี นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบ การดำเนินระบบ และการดูแลบำรุงรักษาน้อย ระบบบำบัดดังกล่าวอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติผสมผสานกับการปลูกพืช เช่น กก แฝก ธูปฤาษี และอ้อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทาง ชีวภาพ
ระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์นอกจากจะใช้บำบัดน้ำเสียชุมชน อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้บำบัดของเสียประเภทสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนหรือชุมชน เมืองได้อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยการ กำจัดขยะแบบประหยัดและการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษา วิจัย และพัฒนา เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ราคาถูก ไม่สลับซับซ้อน ค่าใช้จ่ายต่ำ และให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ใน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งบ้านพัก ห้องประชุม และสถานที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงร้านจำหน่ายของที่ระลึกไว้บริการอีกด้วย
สนใจมาเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนก็แวะมากันได้ ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ทุกวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 032-508352 , 099-4740800 , 065-2180561 หรือที่ www.sirindhornpark.or.th , www.facebook.com/siepchaam
เรื่องและภาพ นำพล สุริยะเจริญ