งานบุญใหญ่ หนึ่งเดียว “สลากย้อมเมืองลำพูน” 27 ส.ค. – 2 ก.ย. 63
เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งกับงานบุญใหญ่ของจังหวัดลำพูน อย่าง “สลากย้อมเมืองลำพูน” ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน 2563 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งในปีนี้กิจกรรมจะจัดขึ้นในรูปแบบที่เน้นการทำบุญวิถีชีวิตแบบใหม่ โดยขอเชิญทุกท่านร่วมทำบุญกับเจ้าภาพต้นสลากย้อม เพื่อร่วมเป็นแรงศรัทธาในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาผ่านกระบวนการผลิตสลากย้อมให้ยั่งยืน ได้อานิสงส์ร่วมกัน พร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพขันข้าว ถวายแก่พระภิกษุสามเณร ที่มาร่วมรับถวายเส้นสลากย้อม
สำหรับกิจกรรมสลากย้อมปีนี้นั้น ในช่วงเวลากลางวัน ชมความงามของสลากย้อม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมใจแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ส่วนในช่วงเวลากลางคืน ชมแสง สี เสียง ที่เป็นการนำเสนอสลากย้อมในรูปแบบใหม่ ชุด “ย้อมสลากย้อม ด้วยแสงสี” พร้อมกับโบราณสถานภายในวัด ประกอบเพลง “ล้านนาซิมโฟนี” ที่ประพันธ์เรียบเรียงโดย คุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ ที่ฝากสรีระสลายกลายเป็นผงธุลีไว้ที่เมืองลำพูน พร้อมกับผลงานเทคนิคการนำเสนอต่างๆมากมาย ส่วนในด้านของขบวนแห่ ปีนี้งด ทั้งยังงดการแสดง เพื่อสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน
นักท่องเที่ยวทุกท่านสามารถมาเที่ยวและมาทำบุญกันได้ทุกวัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึง 3 ทุ่ม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 087-7144448 และ 089-9552174
สลากย้อม เกิดจากภูมิปัญญาอันแยบยลของคนในแถบลุ่มน้ำปิง ที่จะนำคนหนุ่มสาวเข้าสู่พระพุทธศาสนา เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา โดยเงื่อนไขที่ว่า คนที่จะถวายสลากย้อมในอดีต ต้องเตรียมตัววางแผนอย่างน้อยสองปีในการถวายสลากย้อม ซึ่งมีรายละเอียดมาก คนที่จะถวายต้องทำงานหนัก เพื่อที่จะหาเงินมาทำกิจกรรมนี้ สลากย้อมจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
สลากย้อมในอดีตถูกกำหนดให้ผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่วัยสาว ได้เห็นคุณค่าของการถวายสลากย้อม ซึ่งปลูกฝังโดยวิถีธรรมชาติมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้แนะนำ ส่งเสริมบริบทของสังคมบ้านนอกสมัยนั้น จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่จะถวายสลากย้อมจึงได้รับการกล่าวถึง เป็นหน้าตาของพ่อแม่ เพราะกว่าจะทำได้ต้องมีความเพียรพยายามอย่างสูงส่ง อดทน ขยัน หาใช่ที่จะกระทำได้ทุกคนไม่ กระบวนการวางแผนถวายสลากย้อม จึงค่อนข้างละเอียด งดงามพิถีพิถัน ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันถวาย
หญิงใดได้ถวายสลากย้อมและคิดวางแผนด้วยตนเอง หญิงนั้นย่อมเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าขึ้นมาทันที เพราะถูกทดสอบบทเรียนโดยกระบวนการถวายทานสลากย้อม ซึ่งยากที่จะกระทำ ข้าวของที่ถวายต้องประดับตกแต่งให้งดงาม ย้อมสีปลายไม้เฮียวด้วยสีสัน (จึงเป็นที่มาของคำว่าสลากย้อม) จุดมุ่งหมายในสมัยนั้นก็เพื่อถวายให้ตนเองกับส่งเสริมสืบทอดในพระพุทธศาสนา ข้าวของในต้นสลากจึงเป็นของผู้ถวาย(ผู้หญิง)กับของพระสงฆ์(ของที่พระสงฆ์ใช้)
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ทุกคนมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ก็ไม่มีหญิงใดคิดจะถวายทานสลากย้อม เพราะไม่มีเวลาคิด สลากย้อมจึงหายไปตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา ส่วนต้นสลากย้อมก็ยังมีอยู่ แต่วัตถุประสงค์ต่างไป ต้นก็เล็กลง แต่เมื่อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน สลากย้อมจึงเป็นของคณะศรัทธาหรือกลายเป็นสังฆทานอันใหญ่ สำหรับคนที่จะถวายรวมถึงนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญทุกคนไม่จำกัดหญิงหรือชาย โดยปัจจุบันต้นสลากย้อมจะสูงเกินสิบเมตร
(หมายเหตุ : แฟ้มภาพ)