วิ่งอย่างไรไม่ทำร้ายสุขภาพ???
ปัจจุบันกีฬาวิ่งยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวิ่งเป็นการเริ่มต้นออกกำลังที่ง่าย ประหยัด ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ เพียงแค่มีรองเท้าวิ่ง และสถานที่วิ่งที่เหมาะสมก็สามารถวิ่งได้แล้ว นอกจากนี้การวิ่งเป็นประจำยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและด้านจิตใจอีกด้วย
รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “การวิ่งเพื่อสุขภาพมีความแตกต่างกับการวิ่งเพื่อแข่งขัน ซึ่งการวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นการวิ่งเหยาะๆด้วยความเร็วระหว่างการเดินกับการวิ่งเร็ว วิ่งไม่หนักมากนัก วิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเพิ่มระยะทาง ระยะเวลาตามความพร้อมและความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย การวิ่งเพื่อสุขภาพที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย จะส่งผลดีในด้านของร่างกายทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก สมรรถภาพของหัวใจ ปอด การหายใจดีขึ้น เผาผลาญแคลอรี ช่วยลดน้ำหนัก เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคประจำตัวต่างๆ เช่นหัวใจ โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน ช่วยลดระดับไขมันในเลือด นอกจากนั้นยังมีผลต่อจิตใจ การวิ่งช่วยให้อารมณ์และสุขภาพจิตดีขึ้น มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ช่วยให้สมองปรอดโปร่ง เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียต่างๆ ช่วยทำให้ระดับความเครียดลดลง ช่วยขจัดภาวะซึมเศร้าได้
สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการวิ่งเพื่อการแข่งขันหรือวิ่งในระดับอาชีพ ที่ต้องการพัฒนาการวิ่งของตนเองให้มีระดับสูงขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น นอกจากการฝึกซ้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสม่ำเสมอแล้ว ควรได้รับการตรวจเช็คสภาพร่างกายก่อน เพื่อดูว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ โดยกลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิศษ คือกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับกระดูก และข้อต่อ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อกำหนดรูปแบบและระยะเวลาในการวิ่งที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในการออกกำลังกาย คือ การอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ก่อนและหลังวิ่งทุกครั้ง จะทำให้การวิ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดจากการวิ่งได้ด้วย หากมีอาการเจ็บ หรือปวด หน้ามีด วิงเวียนขณะวิ่ง ให้เบาความเร็วในการวิ่งลง หรือ หยุดเพื่อสังเกตการไม่ควรฝืนวิ่งต่อ อีกกรณีหากวิ่งแล้วมีอคารเจ็บหรือปวดเรื้อรังเป็นเวลานาน ให้ลองหยุดพัก และสังเกตอาการ และบรรเทาอาการเบื้องตันตัวยการประคบเย็น และยกขาให้สูง หรือหากทำแล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่มั่นใจในอาการบาดเจ็บตนเอง ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาต่อไป”
สามารถรับชมรายการสุขภาพดีกับหมอสวนดอก ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/931742580653924