“วัดอรัญญวาส” (วัดบ้านปง) โลหะปราสาททิพยวิมานคำ แห่งเมืองล้านนา
“วัดอรัญญวาส” หรือ “วัดบ้านปง” เป็นวัดที่เรียกตามชื่อของหมู่บ้าน คือ “บ้านปง” โดยคำว่า “ปง” ในภาษาเหนือนั้นหมายถึง ที่ริมฝั่งน้ำหรือที่ลุ่มน้ำขัง ซึ่งตัววัดบ้านปงตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำท่าช้างไหลผ่านบริเวณด้านหน้าวัด ทำให้บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแอ่ง หรือปลักบริเวณรอบริมน้ำ มักจะมีเกลือแร่ที่สัตว์ต่างๆมาหากิน อันมีความสอดคล้องกับตำนานพื้นบ้านแถบนี้ เรื่อง “กวางคำ” ที่เจ้านายฝ่ายเหนือขี่ม้าไล่ล่ากวางสีทองผ่านมาทางนี้ แล้วต้องมีการหยุดพักตามรายทางตรงจุดต่างๆของแต่ละหมู่บ้านที่กวางคำวิ่งผ่านขึ้นไปจนถึงเขตอำเภอสะเมิง เมื่อผ่านมาบริเวณบ้านปงนี้ก็จะหยุดพัก จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปงยั้งม้า” (ยั้ง = จอด,พัก) คือเป็นจุดพักม้า พักการเดินทางในครั้งอดีต
สันนิษฐานกันว่า “วัดบ้านปง” สร้างขึ้นในสมัยพระครูบาจินนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2386 เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 องค์การคณะสงฆ์ส่วนกลาง นำโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุง “การปกครองคณะสงฆ์” ทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับทางฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งปรากฎชื่อ “วัดบ้านปง” ขึ้นอยู่กับหมวดอุโบสถวัดหนองควาย ขึ้นกับแคว้นบ้านปง ขึ้นกับเชียงใหม่ นิกายเชียงใหม่ เช่นเดียวกับวัดบ้านเกว๋น (วัดต้นเกว๋นในปัจจุบัน) ในท้องที่อำเภอหางดงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดบ้านปง” มาเป็น “วัดอรัญญวาส” ตั้งแต่ครั้งที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2498 ด้วยฝ่ายบริหารงานการปกครองคงเห็นว่าบริเวณวัดติดกับเขาและอยู่ในป่า จึงให้ชื่อว่าวัด “อรัญญวาส” เป็นชื่อทางการ อันแปลว่า วัดในป่า ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศตามความเข้าใจของภาษาภาคกลาง
วัดบ้านปง ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในแง่ของประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองการปกครองของอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่บทบาททางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมจากส่วนกลาง และจากพม่ากำลังแข่งขันกันอยู่ในภาคเหนือ โดยได้มีการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบจากหลักฐานชิ้นสำคัญของชุมชน คือ งานจิตรกรรมฝาผนังในวิหารของวัดบ้านปงแต่ดั้งเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2530 – 2531 โดย ศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เราทราบว่า วัดบ้านปงเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่า ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนัง ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงวัดเล็กๆในชนบท แต่งานพุทธศิลป์ที่สรรค์สร้างออกมานั้น บ่งบอกได้ถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังในวิหารได้ใช้สีคราม (น้ำเงิน) ตัดกับสีดำ วาดรูปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในสมัยนั้นสีครามเป็นสีที่มีราคาแพง ต้องนำเข้าจากประเทศจีน จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดบ้านปง น่าจะมีคหบดีทั้งที่อยู่ในชุมชนและคหบดีพ่อค้าชาวพม่าและชาวจีน ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้สัญจรเดินทางมาค้าขายในแถบนี้ให้การอุปถัมภ์การก่อสร้างวิหาร เพราะลำพังเพียงชาวบ้านในชุมชนคงจะไม่มีกำลังสร้างวัดได้ขนาดนี้
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ วิหารหลังเก่าได้ถูกรื้อลง โดยได้มีการสร้างวิหารหลังใหม่แทนในบริเวณเดิมไปแล้ว ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศชาตินี้ได้สูญหายไปด้วยอย่างไม่อาจเรียกคุณค่าคืนกลับมาได้อีกเลย
ภายใน วัดบ้านปง มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดและเห็นมาแต่ไกล ก็คือ พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง โลหะปราสาททิพยวิมานคำแห่งเมืองล้านนา ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาหลังวัด โดย “พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง” เดิมทีไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้างและมีลักษณะรูปร่างแบบไหนหรือใช้ศิลปะยุคใดในการก่อสร้าง
ในอดีต บริเวณที่ตรงนี้เป็นแต่เพียงยอดเขาที่มีอิฐมอญทับถมกันเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “ป๊อกดินกี่” (หรือเนินอิฐ) ซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่อาจหาคำตอบได้ว่า “ใครนำมาทิ้งไว้ตรงนี้?” และนำมาไว้ที่นี่เพื่ออะไร? โดยจากคำบอกเล่า ได้เล่าถึงปรากฏการณ์ที่มีแสงสว่างลอยพุ่งมาจากทิศต่างๆ แล้วมารวมตัวกันตรงบริเวณกองอิฐ ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ตรงกลาง แล้วกลุ่มแสงสว่างก็ลอยตัวสูงขึ้นและต่ำลง จนเกิดความสว่างไสวไปทั่ว สามารถมองเห็นต้นไม้ทุกกิ่งก้านสาขาจากระยะไกล ผู้คนที่มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ต่างรู้ด้วยสัญญาและเข้าใจตรงกันว่า เป็นปรากฏการณ์ “พระธาตุเสด็จ”
ต่อมา พระมหาดวงจันทร์ จนฺทโชโต (อาจารย์ดวงจันทร์ ขอดแก้ว) ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นมีโครงการที่จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในบริเวณวัด เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการบูชา โดยมีพ่อครูประสิทธิ์ อินเสาร์ คหบดีผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปวารณาที่จะเป็นประธานในการก่อสร้าง แรกเริ่มเดิมทีได้วางแผนผังจะขุดหลุมสร้างพระเจดีย์ตรงบริเวณทิศเหนือของพระอุโบสถ แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นกลับกลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนที่สร้างเจดีย์ใหม่ ด้วยเหตุที่ไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญ แต่เป็นธรรมจัดสรรตามหลักอิทัปปัจจยตา (เพราะสิ่งนี้มีมาแล้วสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นอีก) ที่จากคำพูดของสามเณรตัวน้อยที่จู่ๆก็พูดทีเล่นทีจริงกับเจ้าอาวาสองค์ก่อนว่า “ตุ๊ปี้ครับถ้าเฮาแป๋งพระธาตุบนดอยป๊อกดินกี่ได้ท่าจะดีแต้”
คำพูดดังกล่าว ทำให้พระอาจารย์ถึงกับชะงักและครุ่นคิดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กล่าวออกมาว่า “ก็อยากจะสร้างเหมือนกั๋น ศรัทธาเปิ้นเล่าสืบต่อกันมาว่า จั้งมีพระธาตุออกในวันเดือนเป็ง” ซึ่งสามเณรน้อยในตอนนั้น ปัจจุบันคือท่านพระครูอาชวปรีชา เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ตรงนี้จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้บนยอดเขา ณ บริเวณที่มีก้อนอิฐมอญทับถมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์จากซากปรักหักพังขึ้นมาเป็น “พระธาตุเจดีย์องค์ใหม่” ก็ว่าได้
การสร้างพระธาตุเจดีย์ในบริเวณนี้ทำให้มองเห็นได้จากด้านล่างหรือแม้จากระยะไกล พระธาตุเจดีย์ก็มีความสูงเด่นมองจากทิศไหนก็เห็นอยู่บนเขา เป็นศรีสง่าของภูมิทัศน์บ้านปง จึงเป็นที่มาของนาม “พระธาตุศรีเมืองปง”
ปัจจุบัน พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง มีการก่อสร้าง “โลหะปราสาท” ครอบเจดีย์องค์เดิม เพื่อเป็นการรักษาและบูรณะโบราณสถานไว้ให้คงอยู่คู่กับชุมชน อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
ซึ่ง “โลหะปราสาท” เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย เรียกกันมาแต่สมัยครั้งพุทธกาล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานความหมายว่า “ตึกที่มียอดเป็นโลหะ” เป็นโบราณสถานที่มีอยู่เพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้น คือ “โลหะปราสาทหลังแรก” สร้างขึ้นในประเทศอินเดียสมัยครั้งพุทธกาล มีชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท อยู่ในวัดบุพพาราม เมืองสาเกต ด้านทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี โดยนางวิสาขามหาอุบาสิกาบุตรีธนัญชัย มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถีได้สร้างถวายพระพุทธเจ้า จากการประมูลราคาเครื่องประดับของตนที่ชื่อ “มหาลดาประสาธน์” ได้เงินมา แล้วนำเงินมาสร้างถวายเป็นสถานปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ มีลักษณะเป็นปราสาทใหญ่ 2 ชั้น มี 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ปัจจุบันปราสาทหลังนี้ปรักหักพังจนเหลือเพียงฐานราก
“โลหะปราสาทหลังที่สอง” ประดิษฐานอยู่ในเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน สร้างโดยพระเจ้าทุฎฐคามณีอภัย กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ เมื่อประมาณ พ.ศ. 382 ตามคำทำนายในแผ่นดินสุพรรณบัฐของพระมหินทรเถระที่ทรงได้พบ โปรดฯให้สร้างตามแบบทิพยวิมานที่ได้ทอดพระเนตร มีด้านกว้างและด้านสูง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง พระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่แต่ละชั้นตามความรู้ คือ ผู้มีสมณศักดิ์สูงอยู่ชั้นบน จากนั้นก็ลดหลั่นลงมาตามลำดับ เนื่องจากหลังคาบุด้วยแผ่นทองแดง เมื่ออสุนีบาตตกจึงเกิดเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายหลายครั้ง พระเจ้าสัทธาติสสะ จึงโปรดฯให้สร้างใหม่ให้สูงเพียง 7 ชั้น ปราสาทหลังนี้ภายหลังถูกโจรทำลาย ปัจจุบันยังคงเหลือซากปราสาท ซึ่งประกอบด้วยเสาหินประมาณ 1,600 ต้น
และ “โลหะปราสาทหลังที่สาม” สร้างขึ้นที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยวัดนี้สร้างเพื่อพระราชทานให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในส่วนของโลหะปราสาทได้ทรงโปรดฯให้ช่างออกแบบ เมื่อพ.ศ. 2389 คือปีที่เริ่มการก่อสร้าง เพื่อเป็นพุทธสถานปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอาคารมี 7 ชั้นลดหลั่นกัน ชั้นที่ 7 ส่วนบนสุดเป็นยอดปราสาทจตุรมุข บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอดปราสาทโดยทั้งหมดมี 37 ยอด ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ถือเป็นโลหะปราสาทหลังเดียวของโลกที่ยังคงสภาพสมบูรณ์และประดิษฐานอยู่อย่างสง่างามจวบจนปัจจุบันนี้
ส่วน “โลหะปราสาทหลังที่สี่” กำลังดำเนินการก่อสร้างขึ้นที่วัดบ้านปงแห่งนี้ เพื่อครอบเจดีย์เดิม ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าร้อยปี และประดิษฐานพระพุทธเจ้า 28 พระองค์เพื่อการสักการบูชาอันสูงสุด รวมทั้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งภาคเหนือ โดยใช้เทคนิคการออกแบบจากวิศวกรผู้มีความรอบรู้และชำนาญในงานพุทธศิลปกรรม ซึ่งได้นำเอาเจดีย์และวิหารมาประยุกต์ใช้งานร่วมกันได้อย่างลงตัว เพราะชั้นล่างจะเป็นห้องโถงโล่ง สามารถบรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ไม่ต่ำกว่า 300 คน ส่วนด้านบนมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปทรงปราสาทศิลปะล้านนา แปลนฐานปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีลานประทักษิณโดยรอบ หลังคาปราสาทมุงด้วยแผ่นโลหะปิดทอง ลดหลั่นกัน 3 ชั้นๆที่ 3 เป็นยอดปราสาทที่หุ้มด้วยทองคำสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละชั้นจะมีซุ้มจรนำ 4 ด้าน ที่กรุด้วยโลหะดุลลวดลายปิดทองเรียงรายลดย่อเป็นช่อชั้นจากฐานขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุด งานปูนปั้นและประดับแต่งเป็นไปตามแนวคติล้านนาประยุกต์
ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะถือได้ว่าเป็น “โลหะปราสาททรงล้านนาหลังแรกของโลก” นับเป็นผลงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าร่วมสมัยที่จะตกทอดเป็นมรดกของแผ่นดินไทยสืบไปตราบนานเท่านาน
……….
วัดอรัญญวาส หรือวัดบ้านปง ตั้งอยู่ ถนนหางดง-สะเมิง หมู่ 2 บ้านปงเหนือ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ / Facebook: วัดอรัญญวาส(พระธาตุศรีเมืองปง)