“พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก

“พระพุทธชินราช” ประดิษฐาน ณ วิหารด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (หรือวัดใหญ่) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ พระพุทธชินราชได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่ง และยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวไทยศรัทธาและนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งด้วย

พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนาม “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” เป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา

พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ไว้ในชื่อ “ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” หนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิง จึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500

พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ “พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา” มีเนื้อหาเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่า พระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสน แต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่น จากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้น มีแต่พระองค์เดียว คือ พระมหาธรรมราชาลิไทย…พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก”

อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)

เดิมทีพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดมิได้มีการลงรักปิดทองตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลกและพระราชดำเนินมานมัสการ พร้อมทั้งโปรดให้มีการนำเครื่องราชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงรักปิดทองครั้งแรก ต่อมายังมีการลงรักปิดทองอีก 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2444 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายสังวาลย์เพชรเป็นพุทธบูชาพร้อมกับการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ พ.ศ. 2547 ในรัชกาลที่ 9

ลักษณะทางพุทธศิลป์ของพระพุทธชินราช พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูม เช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น

พระพุทธชินราช ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่า และที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้ โดยถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *