การบริหารจัดการผืนป่าของประเทศไทยให้กลับคืนความสมดุลและสมบูรณ์เป็นปอดของโลก

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาล ได้เร่งผลักดันมาตรการและแผนแม่บทการบริหารจัดการผืนป่าของประเทศให้กลับมาสมดุลและสมบูรณ์คืนปอดให้กับโลก จนประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หลังปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าทำการเกษตรและแสวงหาผลประโยชน์มานานเกินไป
ที่ผ่านมา “ป่าไม้ในผืนแผ่นดินไทย” ถูกบุกรุกทำลายเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรโดยประชาชนผู้ยากไร้และเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง แต่กลับพบว่าการว่าจ้างของนายทุนและการบุกรุกเพื่อกิจกรรมอื่นๆ อย่างการขยายเมือง ขยายชุมชน เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มากขึ้น หรือการแผ้วถางป่าทำรีสอร์ท–ที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ป่าถูกทำลายรุนแรงและรวดเร็ว ถึงเวลาที่ต้องจัดระเบียบการบริหารจัดการผืนป่าของประเทศอย่างจริงจังให้เป็นระบบสมบูรณ์ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าให้กลับมาเป็น “ปอดของโลก” ดังเช่นเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งไทยมีผืนป่ากว่า 171 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันนี้ลดลงเหลือเพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ โดยเริ่มจากการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ การบริหารจัดการที่มียุทธศาสตร์ต่อเนื่องและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากการปล่อยปละละเลยป่าไม้มีผลโดยตรงให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น ทั้ง “ภัยแล้ง” ที่แหล่งต้นน้ำสำคัญถูกทำลาย , “น้ำท่วม” ไม่มีผืนป่าดูดซับน้ำ และไม่มีระบบบริหารจัดการลำน้ำและลุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ จนฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ เกิดความเสียหายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ได้คุณภาพ ไม่พอบริโภค ล้นตลาด จนนำไปสู่ปัญหาสังคม โดยเฉพาะเกษตรกรมีรายได้ไม่มั่นคง ต้องพึ่งพาฟ้าฝน ขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดที่ควบคุมไม่ได้ ไม่แข็งแรง ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ
4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบตัดไม้และค้าไม้ การล่าสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่า ประสบความสำเร็จมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากกว่า 26,000 คดี จับผู้ต้องหาได้กว่า 5,000 คน พื้นที่บุกรุก กว่า 670,000 ไร่ คดีการตัดไม้ และการค้าไม้มีค่ากว่า 30,000 คดี จับผู้ต้องหาได้กว่า 15,000 คน ไม้ของกลางประมาณ 60,000 ลูกบาศก์เมตร คดีสัตว์ป่ากว่า 25,000 คดี สัตว์ป่าของกลางกว่า 42,000 ตัว ซากสัตว์ป่าของกลางประมาณ 19 ตัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังว่า จำเป็นต้องฟื้นฟูและปลูกป่าคู่ขนานกันไปพร้อมกัน โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 273 แห่ง และฐานปฏิบัติการฟื้นฟูต้นน้ำ 943 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำ หรือขยายพื้นที่การบุกรุก และปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่สูงชัน เรียกว่า “เขาหัวโล้น” ในพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่อง ในเบื้องต้นสามารถฟื้นฟูและปลูกป่าได้แล้วกว่า 700,000 ไร่
“ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนและประเทศชาติที่เราต้องร่วมกันดูแลรักษาต่อไป ถ้าเราลองมองรอบตัวเองออกไปนอกบ้านไปนอกเขตเมืองของเราในวันนี้ จะเห็นว่าบ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างด้วยกัน ต้องไปหากันให้เจอว่าอะไรบ้าง หลายสิบปีที่ผ่านมาเรามีการเร่งพัฒนาประเทศ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ยั้งคิดว่าวันข้างหน้าเราจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเราใช้ต่อไป การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมานั้นความสมดุลกับธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้นเพียงพอหรือไม่ จริงอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่า ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 67 ล้านคน ผลที่ตามมาคือ ถ้าเราหันหลังกลับไปดูเราจะเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของป่าไม้ที่ส่งผลกระทบย้อนกลับมาหาตัวเราเอง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
“การบริหารจัดการป่า” จะเป็นแนวทางสำคัญของประเทศในการปกป้อง รักษา อนุรักษ์ ดูแลและฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ตามแผนของรัฐบาล ด้วยการแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน แก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐกระจายสิทธิการถือครองให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำและสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญต้องมุ่งเน้นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะ การเร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้ผู้ยากไร้โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน
ที่มา : เพจกรมประชาสััมพันธ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *