“วัดนันตาราม” งามล้ำค่าศิลปะพม่า

อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นอำเภอที่มีชุมชนไทลื้อมากที่สุดหนึ่งในประเทศไทยแล้ว ยังมีวัดสวยสุดล้ำค่าอยู่วัดหนึ่ง คือ “วัดนันตาราม” ที่โดดเด่นด้วยวิหารไม้สักหลังใหญ่ สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบพม่า

“วัดนันตาราม” ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ไม่ปรากฏว่าสร้างมาขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด เดิมเรียก “จองม่าน” หรือ “จองคา” เพราะมุงด้วยหญ้าคา โดย พ่อหม่อง โพธิ์ชิต อริยภา ได้บริจาคที่ดิน 3 ไร่เศษ ให้เป็นสถานที่ก่อสร้าง ร่วมกับ พ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ จนสำเร็จเรียบร้อย มีฐานะเป็น อาราม ขึ้นตรงต่อคณธสงฆ์พม่าในขณะนั้น ประชาชนทั่วไปนิยมเรียก “วัดม่าน” หรือ “วัดจองเหนือ” เพราะตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเทศบาลตำบลเชียงคำ

วัดจองม่าน หรือ วัดจองเหนือ ทรุดโทรมและขาดผู้ดูแลมาหลายชั่วอายุคน จนในปี พ.ศ.2467 พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู้) ผู้รับสัมปทานทำไม้ให้กับบริษัทค้าไม้ต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปรับปรุงเสนาสนะของวัดให้มีความมั่นคงแข็งแรง และต่อมาแม่เฒ่าจ๋ามเฮิง ประเสริฐกูล ได้ร่วมบริจาคที่ดินจำนวน 5 ไร่กว่า สร้างวิหารหลังใหม่ โดยพ่อตะก่าจองนันตา (อู๋) รับเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังปัจจุบัน โดยว่าจ้างช่างชาวพม่าจากจังหวัดลำปาง มาออกแบบและทำการก่อสร้างเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่าง หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม มุงด้วยไม้แป้นเกร็ด เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตร

โดยการปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดจองม่านครั้งใหญ่นี้ ใช้เวลาร่วม 10 ปี นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ของจองม่าน พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) ต้นตระกูลวงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ ที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนมิได้ขาด มีความเพียรในการรักษาอุโบสถศีล นอนวัดตลอดฤดูพรรษา ทั้งยังเสียสละทรัพย์เป็นเจ้าศรัทธาในนการปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และสร้างวิหารถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์ของพ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา(อู๋) จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจากจองม่าน มาเป็น “วัดนันตาราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านและตระกูล “วงศ์อนันต์”

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระวิหารไม้สักทั้งหลัง ศิลปะไทใหญ่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2467 หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ยกเป็น 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นพุทธะ เป็นชั้นประดิษฐานของพระประธานและพระพุทธรูป รองลงมาเป็นชั้นของพระสงฆ์ อยู่บริเวณอาสนะหน้าพระพุทธรูป และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่นั่งของอุบาสกและอุบาสิกา ลดหลั่นตามลำดับ เสาในวิหารมีทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทอง 40 ต้น เพดานลงลวดลายประดับด้วยกระจก ศิลปะแบบมัณฑะเลย์ , พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบผสมล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นปีที่วัดนันตารามได้ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์ไทย จากเดิมขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่า วัดท่ามะโอ จ.ลำปาง

พระประธานไม้สักศิลปะแบบไทใหญ่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2468 เป็นพระพุทธรูปที่ได้มาจาก วัดจองเหม่ถ่า วัดร้างในชุมชนไทใหญ่เดิมที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ลงลักปิดทองตามรูปแบบศิลปะมัณฑะเลย์ , พระเจ้าแสนแซ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน อายุประมาณ 1,000 ปี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้จดทะเบียนรับรองเป็นโบราณวัตถุ สร้างขึ้นโดยช่างศิลป์ในสมัยเชียงแสน ทำเป็นชิ้นสามารถถอดและประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีสลักหรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนขององค์พระเข้าด้วยกัน , พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ สร้างจากดอกไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองกี ประเทศพม่า ซึ่งนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียดผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผาคลุกกับดินจอมปลวกหรืออิฐปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง , เจดีย์ยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อปี 2500 ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม และ หออูเตงหมอง (พิพิธภัณฑ์) ห้องสะสมของเก่าโบราณ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *