ททท.ลำปาง พร้อมขับเคลื่อนลำปาง ลำพูน สู่เมืองจุดหมายทางการท่องเที่ยวภาคเหนือ “2 Provinces one Destination”
นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง ซึ่งเดินทางมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 กล่าวว่า ททท.สำนักงานลำปาง รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวการตลาดและการประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงความพร้อมของพื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดลำปางและลำพูน ว่าทั้งสองจังหวัดเป็นมืองท่องเที่ยวที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม และสั่งสมความร่ำรวยทางวัฒนธรรมมากว่า 1,300 ปี มีความงดงามทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลัษณ์ท้องถิ่น ที่ดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ทั้งสองจังหวัดมีการเติบโต ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2563
จังหวัด “ลำปาง – ลำพูน” อดีต “เมืองแฝด” ที่มีความผูกพันฉันพี่น้องมาช้านาน หลังจากที่ “พระนางจามเทวี” ขึ้นปกครองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย หลังปกครองบ้านเมืองสงบสุข พระองค์ได้สละราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสฝาแฝด “เจ้าชายมหันตยศ” แฝดผู้พี่ปกครอง “นครหริภุญชัย” หรือลำพูนในปัจจุบัน ส่วน “เจ้าชายอนันตยศ” แฝดผู้น้องปกครอง “เขลางค์นคร” หรือลำปางในปัจจุบัน ทั้งสองจังหวัดจึงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายทางวัฒนธรรม ผนวกกับความคลาสสิกของเมืองที่สามารถสะกดให้เกิดการเดินทางมาท่องเหี่ยวอย่างไม่ขาดสาย อาทิ ย่านเมืองเก่า “กาดกองต้า” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตลาดจีน” เปิดบริการทุกเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 น. ท่ามกลางอาคารบ้านเรือนคลาสสิกทรงเสน่ห์ ที่ผสมผสานระหว่งความเป็นไทย จีน และยุโรป เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “อาคารหม่องโง่ยซิ่น” เรือนขนมปังขิงอันแสนสวยดูคลาสสิกสุดๆ กับ “สะพานรัษฏาภิเศก” กรุ่นไอแห่งอดีต สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2460 นอกจากนี้ยังมีความเก๋ไก๋ของกลิ่นอายจากตะวันตก กับการนั่งม้าชมเมืองหนึ่งเดียวที่ยังคงหลงเหลือในประเทศไทย “หากมาเที่ยวลำปางแล้ว ไม่ได้นั่งรถม้า ก็เท่ากับว่ามาไม่ถึงลำปาง” และไม่ควรพลาดที่จะไปชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของศิลปะพม่า ตามวัดต่างๆในเมืองลำปาง รวมไปถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุศักสิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง และพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีวัว สร้างขึ้นตามความเชื่อในเรื่อง “คติจักรวาล” รวมถึง “เงาพระธาตุ” ที่เป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์พบเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม” “วัดเจดียชาวหลัง” “วัดปงสนุกเหนือ” “วัดศรีชุม” “วัดศรีรองเมือง” หรือ “วัดพระบาทปู่ผาแดง” จุดชมเจดีย์น้อยใหญ่บนหุบเขา ซึ่งเป็นที่กังขาว่าทำได้ยังไง อีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่จะต้องมาเยือนให้ได้
ผอ.ททท.ลำปางกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ “ตะลอนเที่ยว” จังหวัดลำปางครบแล้ว ก็ต้องเยือนจังหวัดลำพูน เมืองเล็กๆที่น่ารัก เมืองแห่งอดีตที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา เมืองที่มีความสงบเงียบและเรียบง่าย ปราศจากตึกสูง มี “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุหริภุญชัยกันอย่างไม่ขาดสาย หากมีเวลาสามารถนั่งรถรางชมเมืองเก่าเล่าเรื่องเมืองหละปูน “วัดจามทวี” “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎ” หรือ “กู่กุด” ซึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมภายในบรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี “วัดพระยืน” ที่โดดเด่นด้วย “เจดีย์วัดพระยืน” กับงานศิลปกรรมแบบพม่าอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ , “วัดมหาวัน” ที่มี “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของ “พระรอดลำพูน” อันลือลั่น กู่ข้าง สถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อกันว่าเป็นที่สุสานของ”ปู้ก่ำงาเขียว” ข้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งหากใครได้มากราบไหว้ขอพร และหากใครได้ลอดท้องรูปปั้นช้างปู้ก่ำงาเขียว(จำลอง)ที่กู่ช้างกู่ม้า เชื่อว่าจะได้รับพรแห่งชัยชนะ สมหวังทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการดำเนินชีวิตและกู่ม้าตั้งอยู่ด้านหลังของกูช้างเป็นเจดีย์ทรงกลม เชื่อว่าเป็นสุสานของม้าศึกพระนางจามเทวี
จังหวัดลำปางและลำพูน นอกจากจะเดินทางเชื่อมโยงถึงกันด้วยทางรถยนต์แล้ว รถไฟก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมโยงเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน โดย “สถานีรถไฟนครลำปาง” ได้ชื่อว่าเป็นสถานีในบรรยากาศย้อนเวลากับอาคารอนุรักษ์ดีเด่นอันสวยงามเปี่ยมเสน่ห์ มีหัวรถจักรโบราณตั้งเด่นอยู่ที่เกาะกลางตรงทางเข้า ส่วน “สถานีรถไฟลำพูน” แม้จะเป็นสถานีเล็กๆเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แต่ก็ดุสวยงามคลาสสิก อีกทั้งยังมีการตกแต่งบริเวณโดยรอบอย่างสวยงาม สะอาดสะอ้าน โดยเส้นทางรถไฟสายเหนือที่วิ่งจากกรุงเทพไปสิ้นสุดที่เขียงใหม่นั้น เมื่อมาถึงยังจังหวัดลำปาง ลำพูน จะต้องผ่านจุดสำคัญคือ “อุโมงค์ขุนตาน” อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในเมืองไทย มีความยาว 1,352 เมตร สร้างขึ้นด้วยการเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์บนพื้นที่รอยต่อของจังหวัดลำปางและลำพูน ผ่าน “สะพานขาวทาชมภู” เปรียบเสมือนสะพานคู่แฝดกับสะพานรัษฏาภิเศก ลำปาง ตั้งอยู่กลางทุ่ง ทอดตัวข้ามลำน้ำแม่ทา กับสะพานข้ามทางรถไฟสีขาวเด่น กับทรวดทรงโค้งมนสมส่วน ท่ามกลางฉากหลังเป็นเขาสูง เรียกว่า เป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพงดงามเป็นอย่างมาก สะพานขาวทาชมภู สะพานข้ามทางรถไฟคอนกรีตเสริมเหล็กอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สะพานขาวทาชมภู มีความยาว 873 เมตรสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 เป็นสะพานรถไฟที่แปลกแตกต่างไปจากสะพานรถไฟอื่นที่นิยมสร้างด้วยโครงเหล็ก แต่สะพานแห่งนี้สร้างด้วยโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก (เนื่องจากช่วงก่อสร้างสะพานอยู่ในภาวะสงครามไม่สามารถหาเหล็กมาสร้างสะพานได้) นับเป็นสะพานที่สวยงามและท้าทายมาก ปัจจุบันสะพานขาวทาชมภู ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองลำพูน ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกับสะพานเป็นจำนวนมาก ทั้งสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง และสะพานขาวทาชมภู จังหวัดลำพูน นอกจากจะเป็นสะพานแห่งกาลเวลาที่ทอดเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจุบันแล้ว ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงมนต์เสน่ห์ของเส้นทางท่องเที่ยว “ลำปางกับลำพูน” ได้อย่างลงตัว
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาจังหวัดลำปางมีจำนวนผู้เยี่ยมเยื่อน 1,332,887 คน แยกเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,218,398 คน ชาวต่างประเทศ 114,489 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยว รวม 4,249.44 ล้านบาท ส่วนจังหวัดลำพูนมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 1,175,000 คน แยกเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,123,223 คน ชาวต่างประเห 51,777 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยว รวม 1,599.91 ล้านบาท
ททท.สำนักงานลำปาง จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสวิถีคนมือง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนลำปาง ลำพูน เมืองจุดหมายทางการท่องเที่ยวในภาคเหนือ 2 Provinces one Destination โดยบูรณาการทำงานให้สู่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชมรม สมาคม ชุมชน และสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทรศัพท์ 054-222214 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ