“วัดจุฬามณี” วัดเก่าแก่ที่สุดในพิษณุโลก ที่ตั้งเมืองสองแควโบราณ

หากเป็นสายวัดแล้ว เมื่อมาเยือน “พิษณุโลก” ทั้งที วัดที่ไม่ควรพลาดเข้ามาเที่ยวชมและไหว้พระ ก็คือ “วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือ “วัดใหญ่” หรือ “วัดพระศรี” หรือที่หลายๆคนรู้จักในชื่อ “วัดพระพุทธชินราช” นอกจากวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารที่ไม่ควรพลาดแล้ว ในพิษณุโลกยังมีอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน กับ “วัดจุฬามณี”

“วัดจุฬามณี” ตั้งอยู่ ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย และเชื่อกันว่าเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเมืองพิษณุโลกเดิม หรือ “เมืองสองแควโบราณ” ตามประวัติศาสตร์แล้วกล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมหาราชทรงสร้างวิหารขึ้นและได้เสด็จออกผนวช ณ วัดแห่งนี้ เป็นเวลาถึง 8 เดือน 15 วัน และการออกผนวชของพระองค์ครั้งนี้มีข้าราชบริพารบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป

ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

“พระปรางค์ประธานศิลาแลง” ที่มีฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี สมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ

“ใบเสมาโบราณ” ทำด้วยหินชนวนสีเทาเข้ม มีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 120-140 เซนติเมตร ศิลปะสมัยอยุธยาเป็นใบเสมาคู่ปักรายรอบพระอุโบสถที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้ทรงผนวช ปัจจุบันใบเสมาส่วนใหญ่แตกหักชำรุดเสียหาย มีสมบูรณ์อยู่บ้างประมาณ 6 ใบ และทางวัดได้จัดสร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปกลางใบเสมา แทนที่พระอุโบสถเดิม

“มณฑปพระพุทธบาทจำลอง” สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น มณฑปเป็นมณฑปสูงมีพะไลโดยรอบ ด้านหน้ามีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศเหนือ ตัวอาคารมณฑปเหลือให้เห็นเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ส่วนหลังคาพังหายหมด ด้านหลังมีแผ่นศิลาจารึกเรื่องการสร้างรอยพระพุทธบาท ในจารึกกล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการให้นำผ้าไปทาบรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต จำลองรอยพระพุทธบาทสลักลองบนแผ่นศิลา แล้วพระราชทานรอยพระบาทนี้ให้ไปประดิษฐานที่วัดจุฬามณี เพื่อไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของฝูงชน

“วิหารหลวพ่อเพชร” อยู่ระหว่างพระปรางค์และมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ภายนอกสร้างแบบเรียบง่าย ในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ พระนามว่า “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนศรัทธาเป็นอย่างมาก

โดย “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้าง 2.7 เมตร สูง 3.8 เมตร ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานรองรับองค์สูง 55 เซนติเมตร เดิมสมเด็จไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัชนาลัยทรงผนวชที่วัดจุฬามณี และทรงสร้างไว้ ต่อมาได้ชำรุด อดีตเจ้าอาวาสได้นำปูนพอกไว้ทั้งองค์ เมื่อกระเทาะปูนออกจึงพบว่า พระพักตร์ชำรุด พระกรหัก ประชาชนจึงช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระพักตร์องค์หลวงพ่อเพชรเปลี่ยนไปจากเดิม พระกรใหญ่ขึ้นด้วย ชาวบ้านเล่าว่าเดิมหลวงพ่อเพชร มีรูปแบบศิลปเชียงแสนคล้ายหลวงพ่อเพชรที่พิจิตร พระเนตร เม็ดพระศกเป็นเพชรที่ประชาชนนำมาประดับ จึงเรียกว่า หลวงพ่อเพชร ต่อมาเพชรถูกขโมย ประชาชนจึงช่วยกันอนุรักษ์ฯเม็ดพระศกและพระเนตรเสียใหม่

นอกจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นที่น่าสนใจในวัดแล้ว ภายในบริเวณวัดยังแปลกตาไปด้วย “ต้นไม้ลวดลายไทย” ซึ่งสวยงามไม่เหมือนที่ไหนๆ โดยลวดลายไทยที่นำไปติดไว้ที่ต้นไม้นี้ ไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว เป็น “การบวชต้นไม้” เพื่อเป็นกุศโลบายห้ามมิให้คนตัดต้นไม้ โดย “พระมหาชุมพล ปภากโร” เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ได้มีแนวคิดบวชต้นไม้ภายในวัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รักต้นไม้และเกิดความสวยงามภายในวัด โดยทั่วไปจะใช้ผ้าจีวรสีเหลืองมาพันบริเวณรอบโคนต้นไม้เป็นการบวช แต่ที่วัดจุฬามณีจะทารักสีดำที่เปลือกของต้นไม้ และแปะลวดลายกนกสีทองแบบไทยโบราณลงไป ซึ่งได้ดัดแปลงมาจากลวดลายกนกบนซากพระปรางค์เก่าแก่ ลวดลายกนกส่วนใหญ่เป็นลายเทวดาพนม ลายหงส์คาบสร้อยดอกไม้ และลายเฟื่องอุบะรูปสามเหลี่ยมสลับฟันปลา ที่ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากขอมผสมจีน จนมาเป็นแบบของลวดลายกนกสมัยกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *