สัมผัสวิถี “ยอง” 200ปี ที่ “บ้านป่าตาล” สันกำแพง

“ไทยอง” ถือเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ใหญ่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดนี้ มีชุมชนคนยองกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามอำเภอต่างๆ

สำหรับ “อำเภอสันกำแพง” จังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็มีชุมชนคนยองขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้วย ณ บ้านป่าตาล ตำบลบากค้าง ชุมชนคนยองแห่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เราเที่ยวชมกัน….

…”ยอง” บ้านป่าตาล เป็นยองขนานแท้ที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่มาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน โดยกาลเวลานั้นไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้ พวกเขายังคงยึดมั่นถือมั่นในวิถีของคนยองที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง ร่วมมือกับวัด (วัดป่าตาล) สร้างให้วัดและหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และภูมิปัญญา เพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่สนใจในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ได้เข้ามาสัมผัสวิถีคนยองกัน

พระสิงห์ยอง

ชุมชนยองของที่นี่ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากมาย เริ่มจากถนนเส้นทางเข้าหมู่บ้าน ที่ได้สร้างแบบรั่วบ้านของคนยองในอดีต โดยใช้ไม้ไผ่สานเรียก “ฮั่วสะลาบ” นำมาทำเป็นรั่วบ้านแบบดั่งเดิม พร้อมกันนี้ในทุกวันนี้ คนยองที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าตาล ที่มีทั้งสิ้น 95% ยังคงอนุรักษ์ภาษาพูด การแต่งกายและวิถีชีวิตของคนยองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

เท่านี้ยังไม่พอ บ้านแต่ละหลังคาเรือนยังจะมีคนในชุมชนทำหัตถกรรมภูมิปัญญาต่างๆมากมาย  อาทิ การทำกระดาษสา การทำจักสาน สานข้าวกล่องจากใบตาล สานตะกร้า สานไม้กวาด ทำโคม ทำหมวกกะโล่โบราณ การทำน้ำหนัง การทอผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน การปลูกผัก ทำสวนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และยังมีบริการไกด์นำเที่ยวในชุมชน เช่ารถถีบปั่นรอบหมู่บ้าน เช่าชุดยองถ่ายรูป มีโฮมสเตย์ ร้านอาหาร และร้านของฝากของที่ระลึก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยือนด้วย

สำหรับศูนย์รวมใจของชาวบ้านป่าตาลนั้น ก็อยู่ที่ “วัดป่าตาล” เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2487 โดยวัดป่าตาลเริ่มสร้างขึ้นในคราวที่ชนพม่า “ไทยอง” ได้อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนาในปี พ.ศ.2348  มาอยู่เมืองลำพูน และบางส่วนได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายแดนเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ เช่นตำบลบวกค้างในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่าไม้ไผ่และหญ้าคา   ขณะนั้นมีสองตายายมาอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของวัดและปลูกฝักทองขึ้นปกคลุมขึ้นที่เป็นกู่ (เจดีย์ร้าง) จึงมองเห็นบริเวณนี้เป็นกู่คงเป็นวัดร้างมาก่อน   สมควรจะเป็นวัดสืบต่อไป จึงได้ชักชวนกันแผ้วถางก่อสร้างวัดขึ้นมา และบริเวณที่เป็นกู่คือตรงที่พระประธานในวิหารของวัดทรงประทับอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

วัดป่าตาลยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ “พระพุทธรูปสิงห์ 1” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระสิงห์ยอง” เป็นพระเก่าแก่ที่อยู่คู่วัดมาอย่างช้านาน ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย และยังมีพระพุทธรูปองค์ประธานในพระวิหารปูนปั้นที่งดงามยิ่งอีกด้วย

นี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของบ้านป่าตาล ชุมชนคนยอง 200 ปีแห่งนี้เท่านั้น หากท่านใดสนใจอยากลงรายละเอียดมาเจาะลึก ก็สามารถมาได้ด้วยตนเอง การเดินทางมายังบ้านป่าตาลนั้น เดินทางโดยรถยนต์มาจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้ามาทางถนนสายเชียงใหม่-อำเภอแม่ออน (สายวงแหวนตัดใหม่) ถึงบริเวณสี่แยกบ้านต้นดู่ให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามถนนอีกไม่ไกล ก็จะถึงป่าตาลและวัดป่าตาล จุดหมายปลายทางในการสัมผัสวิถีคนยองของท่าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *