(คลิป) ททท.เชียงใหม่ จับมือ เขียว สวย หอม เปิดเส้นทางรถราง “เที่ยวชมชุมชนย่านเมืองเก่า”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมกับ เขียว สวย หอม จัดทำเส้นทางนั่งรถรางเที่ยวชมชุมชนในเขตรอบเมืองเก่าเชียงใหม่ พร้อมทำกิจกรรมทำกรวยดอกไม้ไหว้พระ ตามเส้นทาง วัดพระสิงห์ – เที่ยวชมรอบคูเมืองเชียงใหม่ – วัดเชียงมั่น – ชุมชนวัดศรีสุพรรณ – ชุมชนพวกแต้ม – วัดพระสิงห์ ให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ วันละ 1 รอบ เวลา 09.00 – 11.00 น. ค่าบริการท่านละ 150 บาท (สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มค่าธรรมเนียมเข้าชมอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ 50 บาท)

โดยตลอดทั้งการเดินทางจะมีวิทยากรคอยบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดสำคัญต่างๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเก่า และสี่แจ่งเมืองของเชียงใหม่ รวมไปถึงนำชมวิถีชีวิต และสินค้าของชุมชนในเขตย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ได้แก่ การทำเครื่องเงินของชุมชนวัวลาย และการทำเครื่องทองเหลืองของชุมชนพวกแต้ม

พร้อมพิเศษ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป รับส่วนลดค่าบริการ 50% ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2562 และนักท่องเที่ยวกลุ่ม Corporate/ศึกษาดูงาน รับส่วนลดค่าบริการ 50% ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2562

นอกจากนี้ เขียว สวย หอม ยังเปิดบริการรถรางเขียวชมเมืองในรอบปกติทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ในเส้นทางวัดพระสิงห์ – เที่ยวชมรอบคูเมืองเชียงใหม่ – วัดเชียงมั่น – วัดพระสิงห์ วันละ 4 รอบ ได้แก่ 09.00 – 10.00 น. / 11.00 – 12.00 น. / 13.00 – 14.00 น. / 15.00 – 16.00 น. อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา 50 บาท อีกด้วย

งานนี้ นางสาวภัคนันท์   วินิจชัย ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า “กิจกรรมนั่งรถรางชมเมืองเชียงใหม่ เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่ง ททท.เชียงใหม่ คาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่ได้ตลอดทั้งปี ผ่านการนำเสนอ Amazing Story เรื่องราวของประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ และวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ในเขตย่านเมืองเก่าเชียงใหม่”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูล และสำรองที่นั่งได้ที่ เขียว สวย หอม โทรศัพท์ 095-1298448, ID LINE: 0951298448 และ Facebook: เขียวชมเมืองเชียงใหม่ by เขียว สวย หอม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โทร. 0 5324 8604-5 และสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวของ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ได้ทาง www.tourismchiangmai.org หรือ Facebook : TAT Chiang Mai

………………………………………………………….

ข้อมูลพอสังเขปจุดสำคัญในเส้นทางนั่งรถรางเที่ยวชมชุมชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่

 

 

“ชุมชนวัดศรีสุพรรณ” ชุมชนสล่าสิบหมู่ล้านนา โดดเด่นเป็นอย่างมากในด้านการผลิตเครื่องเงิน มีจุดเด่นอยู่ที่ วัดศรีสุพรรณ วัดที่มีความวิจิตรอลังการด้วยอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก และยังมีศูนย์การเรียนรู้การทำเครื่องเงินให้นักท่องเที่ยวที่สนใจทดลองทำ นอกจากนี้ภายในวัด และชุมชนยังมีสาธิตการทำเครื่องเงินให้นักท่องเที่ยวได้ชม และเลือกซื้ออีกด้วย

“ชุมชนพวกแต้ม” ชุมชนที่ขึ้นชื่อในด้านการฉลุฉัตรธงโบราณ หรือที่เรียกว่า “คัวตอง” ทั้งในรูปแบบพุทธศิลป์ และหัตถศิลป์ เช่น ฉัตรบนยอดเจดีย์ ดอกไม้ไหว และเล็บฟ้อน เป็นต้น โดยมีศูนย์รวมของชุมชนอยู่ที่ “วัดพวกแต้ม” สถานที่ซึ่งเป็นวัด แหล่งการเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงและเก็บรักษาวัฒนธรรมการทำพุทธศิลป์ และหัตถศิลป์เหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป

“วัดพระสิงห์” วัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทางมาสักการะกันเป็นประจำ เมื่อถึงช่วงปี๋ใหม่เมืองของทางล้านนา จะมีพิธีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคล

“อนุสาวรีย์สามกษัตริย์” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ติดกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และวัดอินทขีลสะดือเมือง สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสามกษัตริย์ผู้สร้างจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน คือ พญามังราย พญางำเมือง และ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

“วัดเชียงมั่น” วัดเก่าแก่ในเชียงใหม่ ซึ่งพบศิลาจารึกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเป็นสัมพันธไมตรีของกษัตริย์ 3 พระองค์ คือพญามังรายแห่งเมืองเชียงใหม่ พญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก ซึ่งภายในวัดมีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆมากมาย บ่งบอกถึงความมีอายุและความเก่าแก่ของสิ่งต่างๆภายในวัด มีพระพุทธรูปโบราณทำจากหินเขี้ยวหนุมาน พระอุโบสถ และวิหารมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

“ประตูแสนปุง” หรือ “ประตูสวนปรุง” เป็นประตูที่เจาะกำแพง สร้างขึ้นใหม่ในสมัยพญาสามฝั่งแกน  เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ตำหนักนอกกำแพงเมือง  จะได้เสด็จมาสักการะพระเจดีย์  จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมือง  เมื่อครั้นอดีตหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่จะต้องนำศพออกจากคูเมืองผ่านประตูนี้เท่านั้น ถือเป็นประเพณีอยู่จนถึงปัจจุบัน

“ประตูเชียงใหม่” เดิมชื่อ “ประตูท้ายเวียง” เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้ เป็นประตูธุรกิจ เพราะตั้งอยู่ในแหล่งธุรกิจร้านค้า เป็นจุดจอดรถโดยสารเชื่อมไปอำเภอต่างๆทางใต้ของเมืองเชียงใหม่ และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ตลาดประตูเชียงใหม่, วัดเจดีย์หลวง, ถนนคนเดินวัวลาย(ทุกวันเสาร์) ฯลฯ

“ประตูสวนดอก” เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อประตูนี้เมื่ออดีตบริเวณนั้นเต็มไปด้วยสวนดอกไม้และต้นพะยอม และยังเป็นสถานที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังรายมหาราช  ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, นิมมานเหมินท์ ฯลฯ

“ประตูช้างเผือก” เดิมชื่อ “ประตูหัวเวียง” เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ อดีตเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดโลกโมฬี, หอประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ถิ่นล้านนา, วัดอินทขิล ฯลฯ

“ประตูท่าแพ” เดิมชื่อ “ประตูเชียงเรือก” เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของประตูแห่งนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง และมีแพจำนวนมากเรียงรายริมแม่น้ำ จึงเรียกว่าประตูนี้ว่า ประตูท่าแพ จนถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์คของนักท่องเที่ยว และเป็นลานที่ใช้จัดงานเทศกาลต่างๆอีกด้วยและยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ลานจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ , ถนนคนเดิน(ทุกวันอาทิตย์), กาดวโรรส, สะพานนวรัฐ ฯลฯ

“แจ่งกู่เฮือง” เดิมเรียกว่า “แจ่งกู่เรือง” ตามชื่อของหมื่นเรือง ซึ่งเป็นผู้คุมขุนเครือโอรสของพญามังรายซึ่งถูกจองจำหลังก่อการกบฏชิงราชสมบัติจากพระราชบิดาแต่ไม่สำเร็จ หลังจากหมื่นเรืองเสียชีวิตพญาแสนภู ได้โปรดให้บรรจุอัฐิของหมื่นเรืองไว้ที่แจ่งนี้  หลังจากนั้นได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ และเรียกแจ่งนี้ว่า“แจ่งกู่เฮือง”จนถึงปัจจุบัน

“แจ่งหัวลิน” เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อคือ เป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว(ดอยสุเทพ)ซึ่งเป็นต้นน้ำ ผ่านราง(ลิน) ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ จึงเรียกแจ่งนี้ว่า แจ่งหัวลิน ถึงปัจจุบันนี้

“แจ่งศรีภูมิ” เดิมชื่อ “แจ่งสะหลีภูมิ” เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ที่มาของชื่อคือศรีแห่งเมือง ซึ่งถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่

“แจ่งกระต๊ำ” หรือ “แจ่งข๊ะต๊ำ” เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อ คือ เป็นชื่อกับดักหรือเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง เพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดมีปลาชุกชุมจำนวนมาก จึงมีชาวบ้านมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำ จึงเรียกแจ่งนี้ว่า แจ่งข๊ะต๊ำ หรือเรียกว่า แจ่งกระต๊ำ ในปัจจุบัน

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *