“พระนอนหนองผึ้ง” พระนอนในตำนานพระเจ้าเลียบโลก

ตำนานเกี่ยวกับ “พระนอน” ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นก็มี “พระนอนหนองผึ้ง” ปรากฎณ์อยู่ในตำนานด้วย ซึ่ง พระนอนหนองผึ้ง ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน วัดพระนอนหนองผึ้ง ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

“พระนอนหนองผึ้ง” หรือ “พระพุทธรูปป้านปิง” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ขนาดความยาว 19 เมตร เป็นพุทธศิลปแบบศิลปะล้านนายุคต้นถึงยุคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 โดยพระนอนหนองผึ้งหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเหตุที่ได้อีกชื่อหนึ่งว่า พระนอนป้านปิง นั้น ความหมายของคำว่า “ป้าน” คือ ต้านน้ำปิงไว้ให้ไหลเบี่ยงออกซ้ายขวาไป ซึ่งภายหลังจากสร้างพระนอนป้านปิงเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าน้ำปิงไม่เคยไหลมาท่วมในหมู่บ้านแห่งนี้ รวมทั้งจังหวัดลำพูน

ในตำนานได้กล่าวถึงวัดพระนอนหนองผึ้งและพระนอนหนองผึ้งไว้ 2 ตำนานด้วยกัน ได้แก่ “ตำนานแรก” เป็นยุคพุทธกาล กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้แม่ระมิงค์ มีพญานาคอาศัยอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็บังเกิดความปีติจึงเนรมิตกายเป็นมนุษย์ เอาน้ำผึ้งใกล้หนองน้ำมาถวาย เมื่อพระองค์รับแล้วก็สำเร็จสีหไสยาสน์ พญานาคทูลขอรอยพระบาท พระพุทธองค์กล่าวว่า สถานที่นี้ไม่มีหินจักเหยียบ ท่านจงก่อรูปเราไว้ยังที่ตถาคตประทับนอนนี้ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย สถานที่นี้ภายหน้าจักได้ชื่อว่า “พระนอนหนองผึ้ง”

ส่วนตำนานที่สอง เป็นเหตุการณ์ในเป็นยุคล้านนา ที่ระบุว่า พ.ศ.1836 มีพระมหาเถระเจ้าพร้อมเศรษฐีบริวารจากเมืองเชียงแสน ได้บูรณะเจดีย์ขึ้นและสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ คือพระนอนยาว 38 ศอก ต่อมา พ.ศ.1838 หลังจากที่พระญามังรายตีหริภุญไชย แล้วมาสร้างเวียงกุมกาม ได้รวมเอาวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเวียงกุมกาม และเปลี่ยนนามเป็น วัดพุทธป้านปิงหนองผึ้ง อนึ่ง คำว่า “พระนอนป้านปิง” มีความหมายเฉพาะ คำว่า “ป้าน” หมายถึง ต้านหรือขวาง เนื่องจากคนในยุคนั้นไม่ต้องการให้แม่น้ำปิงไหลท่วมบ้านเรือนผู้คน หลังจากที่สร้างพระนอนแล้วเสร็จ ก็ปรากฏว่าน้ำแม่ปิงก็ไม่เคยไหลท่วมหมู่บ้านอีกเลย รวมถึงจังหวัดลำพูนด้วย คนทั่วไปจึงมักเรียกปะปนกันระหว่าง พระป้านปิงกับพระนอนหนองผึ้ง (อ้างอิง www.matichonweekly.com)

นอกจากในวัดพระนอนหนองผึ้ง มีพระนอนที่น่าสนใจแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ อุโบสถ และวิหาร

“เจดีย์” เป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังที่ได้รับการซ่อมปฏิสังขรณ์แล้ว ส่วนฐานเป็นแบบเขียงตอนล่าง เหนือขึ้นมาเป็นชั้นปัทม์ย่อเก็จรองรับส่วนมาลัยเถาแบบย่อเก็จแปลง องค์ระฆังขนาดเล็ก ไม่มีส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนทรงกรวยคว่ำแต่ละปล้องต้องมีขนาดใหญ่ ต่อเหนือขึ้นไปด้วยชั้นบัวกลุ่มแบบพม่า และส่วนปลียอดประดับฉัตรโลหะ

“อุโบสถ” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมีปีกนก 2 ข้าง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหน้ามีสิงห์ปูนปั้นอยู่ 1 คู่ ส่วนซุ้มโขงประตูทางเข้าปรากฏลวดลายปูนปั้นในศิลปะพม่า สันนิษฐานว่าอาจได้รับการซ่อมแซมบูรณะในช่วงรัชกาลที่ 5 ดังเช่นที่พบในสิ่งก่อสร้างต่างๆของวัดช้างค้ำ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดศรีบุญเรือง วัดสันป่าเลียง และวัดเสาหิน

“วิหาร” สร้างหันหน้าไปทางตะวันออก มีรูปทรงโครงสร้างอิทธิพลศิลปะจากภาคกลาง ที่มีส่วนจั่วหลังคาฐานกว้าง ทำตัวบันไดรูปมกรคายนาคปูนปั้นปิดทองและเขียนสี คล้ายกับที่พบในเขตเมืองเชียงใหม่ทั่วๆไป

ปัจจุบัน วัดพระนอนหนองผึ้ง ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้คนมาเที่ยวชมและนมัสการกราบไหว้พระนอนฯอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งวันนี้หากมีโอกาสก็มาเที่ยวชมและไหว้พระกันนะครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *