แอ่ว “ลวงเหนือ” ไม่ลวงใจ ไปสัมผัสวัฒนธรรม “ไตลื้อ” มรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่ตกทอดสู่ลูกสู่หลาน

“บ้านลวงเหนือ” เป็นอีกหนึ่งของดีของ “อำเภอดอยสะเก็ด” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีดีด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอันมีอัตลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยวัฒนธรรมของ “ไตลื้อ” ในชุมชน ที่ผู้คนในชุมชนนี้เป็นไตลื้อที่อพยพมาจากดินแดนสิบสองปันนา เมื่อ พ.ศ.1912 โดยยังรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ทั้งภาษา การแต่งกาย ศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนา และความเชื่อ จนอัตลักษณ์เหล่านี้ได้กลายมาเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่ตกทอดมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน

“บ้านลวงเหนือ” มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและวิถีชีวิตแบบฉบับไตลื้อ โดยมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกัน…???

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในชุมชนบ้านลวงเหนือ ได้แก่ “วัดศรีมุงเมือง” วัดที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ล้านนาไทยและสิบสองปันนาเข้าไว้ด้วยกัน สร้างโดย “พระเจ้าสามฝั่งแกน” กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายลำดับที่ 8 เดิมทีวัดมีชื่อว่า วัดปุรฉันท์หรือวัดเปิง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีมุงเมือง และได้รับการบูรณะให้เป็นพระมหาวิหารแบบไตลื้อ ภายในวัดประกอบไปด้วยพระธาตุเจดีย์ ที่เป็นเจดีย์ศิลปะพม่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1944 ถือเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ในวัดยังมีหอพระธรรมธาตุและโฮงหลวงไตลื้อให้เที่ยวชม

ด้านวิถีชีวิตไตลื้อของบ้านลวงเหนือ สะท้อนผ่านทั้งภาษา การแต่งกาย และอาหารการกิน โดย “การแต่งกาย” ของไตลื้อนั้นจะโดดเด่นไม่เหมือนใคร ผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนยาวที่เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” และนุ่งซิ่น และโพกผ้าสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ เสื้อปั้ดเป็นเสื้อรัดรูปสีดำคราม เอวลอย แขนยาว ตรงสาบหน้าตกแต่งด้วยผ้าแถบสีเฉียงมาผูกติดกันตรงมุมซ้ายทางลำตัว ติดกระดุมเงิน นุ่งซิ่นลายขวาง เป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วง เรียกว่า “ลายน้ำไหล” ส่วนการแต่งกายของชายไตลื้อจะสวมเสื้อแขนยาวสีดำครามคล้ายเสื้อหม้อห้อม มี 2 แบบ แบบดั้งเดิมเป็นเสื้อเอวลอย สายหน้าขลิบด้วยผ้าแถบสี ป้ายมาติดกระดุมที่ใต้รักแร้และเอว อีกแบบเป็นแบบเมืองเงิน เป็นเสื้อคอตั้ง มีแถบผ้าจกลายขอนาค

สำหรับ “อาหารการกิน” ของไตลื้อบ้านลวงเหนือก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวแคบ ข้าวจี่ ส้มตำไตลื้อ ผัดไทยไทลื้อ เมี่ยงคำ และไข่ป่าม เป็นต้น ซึ่ง “ข้าวแคบ” ชาวไตลื้อจะนิยมทำกินกันในช่วงฤดูหนาว ใช้ข้าวสารแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำมาโม่จนเหลวเป็นน้ำแป้ง ผสมน้ำ เกลือ และงาดำลงไป ตักนำหยอดลงบนผ้าขาวที่ปิดกระทะต้มน้ำร้อนไว้ พอแป้งที่หยอดลงไปสุกขาวได้ที่ ก็ใช้ไม้ตักขึ้นมาตากบนแผ่นตับหญ้าคา เวลากินจะปิ้งก็ได้หรือก็ได้ตามชอบ คนไตลื้อสมัยก่อนจะกินข้าวแคบปิ้งกับข้าวนึ้งร้อนๆ , “ข้าวจี่” เมนูข้าวที่นำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วทาด้วยไข่หรือน้ำพริกแดง ปิ้งให้สุกด้วยไฟอ่อนๆจนเหลืองหอมๆ , “ส้มตำไตลื้อ” มีความพิเศษตรงที่ตำใส่กระเทียม พริก และมะขาม โขลกให้เข้ากัน , “ผัดไทยไตลื้อ” ผัดไทยอร่อยขั้นเทพ เป็นผัดไทยแบบแห้งๆไม่ชุ่มน้ำ ผัดเส้นใส่เต้าหู้ใส่ไข่ใส่ผักต่างๆโดยไม่ใส่เนื้อสัตว์ และ”ไข่ป่าม” เมนูไข่ปรุงรส ที่สุกด้วยการนำมาย่างไฟในพาชนะใบตอง เมื่อสุกแล้วส่งกลิ่นหอมชวนกิน

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว การแต่งกาย และอาหารการกินในแบบฉบับไตลื้อของบ้านลวงเหนือที่น่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังมีตุ๊กตาไม้ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเป็นตุ๊กตาไม้ด้วยการรังสรรค์ของ “บ้านตุ๊กตาไม้นายโถ” เป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว โดดเด่นด้วยตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ตัวเล็กๆ สีสันสดใส ที่ใช้ไม้เนื้ออ่อนในท้องถิ่นมาทำ อาทิ วัว , ช้าง , ไก่ , ม้าลาย , ยีราฟ , ควาย , แมว , ฮิปโป , แกะ , กระต่าย ลิง และพญาลวง เป็นต้น

ซึ่ง “ตุ๊กตาไม้พญาลวง” ถือเป็นตุ๊กตาที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดย “พญาลวง” เป็นสัตว์มงคลในตำนานล้านนา เชื่อกันว่าถ้าบินอยู่บนฟ้าก็จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ถ้าอยู่ในท้องน้ำก็จะทำให้ท้องน้ำอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ชาวไตลื้อยังเชื่อว่า ถ้าทำความดีก็จะได้เจอกับพญาลวง สัตว์ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์และสวรรค์ ซึ่งพญาลวงมีเขาเหมือกวาง มีหัวคล้ายวัว มีเกล็ดและหางเหมือนปลา มีงวงและงาเหมือนช้าง มีเท้าเหมือนม้า และมีปีกเหมือนนก และประกอบไปด้วยสัตว์มงคล 5 อย่าง ได้แก่ ช้าง , กวาง , ปลา , นก และสิงห์ ลักษณะคล้ายกับมังกรของจีน

ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไตลื้อที่สะท้อนออกมาให้เราได้เห็นกัน ณ บ้านลวงเหนือ โดยท่านใดสนใจอยากสัมผัสความเป็นไตลื้อลวงเหนือให้มากกว่านี้ ก็แวะมาเที่ยวสัมผัสได้ด้วยตนเอง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ โทรศัพท์ 053-496264 , www.baanbaioon.com หรือติดต่อ การท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ โทรศัพท์ 086-9191915

งานนี้มา “ลวงเหนือ” แล้วไม่มี “ลวง” มีแต่เรื่องจริงของวิถีไตลื้อให้สัมผัสกันอย่างจุใจ ลองมาเที่ยวกันดู แล้วคุณจะประทับใจ!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *