พลิกโฉมประเทศไทย สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ 12 หน่วยงาน ผนึกกำลังจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย”

6 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จับมือ 6 สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย สร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย” หวังใช้เทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาคน พัฒนาชาติ เปลี่ยนประเทศจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” พร้อมดึงเอกชน หนุนสตารท์อัพ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย สร้างแรงบันดาลใจให้คนในชาติ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศ เช่น ดาวเทียมที่เป็น earth observation และยานอวกาศที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ ล้วนเป็นเรื่องที่ยาก ท้าทาย และผิดพลาดไม่ได้ เรื่องนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าคนๆ เดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะรับมือได้ จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่จะนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ มาร่วมทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม แม้หนึ่งในเป้าหมายของ TSC คือไปดวงจันทร์ สิ่งที่เป็น output หลักคือผลพลอยได้ระหว่างทางไปเป้าหมายคือได้สร้างคนเก่ง สร้าง startup ที่จะเป็น seeds ของ supply chain ของ TSC สร้าง space economy ในประเทศให้เกิดขึ้นได้

“วันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นการผนึกกำลังเป็น ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ของผู้เชี่ยวชาญ. ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันอุดมศึกษา ที่จะร่วมมือกันพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศน์สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เกิดขึ้นและยืนหยัดต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวปิดท้าย

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการภาคีฯ กล่าวว่า ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศไทย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ เรียนรู้ ลงมือทำโดยตรง ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย รวมถึงออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ Payload เพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น กล้องถ่ายภาพที่มีความสามารถในการถ่ายภาพในหลายความยาวคลื่น สามารถประยุกต์ใช้กับด้านการเกษตร การใช้พื้นที่ของประชากร และบรรยากาศ เราใช้กระบวนการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ เป็นความท้าทายในการพัฒนาศักยภาพกำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย ยกระดับขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมอวกาศของไทย และสร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ให้กับคนในชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ ร่วมแรงร่วมใจพลิกโฉมประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โครงการนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นโจทย์ที่ท้าทายการยกระดับองค์ความรู้ ของประเทศที่สำคัญมาก และจะพลิกโฉมประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้ง 12 หน่วยงาน จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของภาคีฯ ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ งานวิศวกรรม งานแอพพลิเคชั่น งานวิจัยและพัฒนา งานสนับสนุนการศึกษา และงานสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ ความเชี่ยวชาญ และกำลังคนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่

“นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน นับได้ว่าอุตสากรรมอวกาศอยู่ในช่วงขาขึ้น และไทยต้องใช้ห้วงเวลานี้ตักตวงโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ทันท่วงที เมื่อ 30 ปีก่อนไทยตกขบวนเซมิคอนดักเตอร์ แต่วันนี้เราจะไม่ตกขบวนอวกาศ” ดร. ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย

สำหรับพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม มาเป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน มีหน่วยงานร่วมลงนามทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 6 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 6 แห่ง ดังนี้ 1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 2. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 3. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 6. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 7. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 8. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 10. มหาวิทยาลัยมหิดล 11. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ12. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *