“พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” พระบรมราชานุสาวรีย์กษัตริย์ 3 พระองค์ ผู้สร้างเวียงเชียงใหม่

“พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” หรือที่เรียกกันง่ายๆสั้นๆว่า “อนุสาวรีย์สามกษัตริย์” เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ ผู้ทรงสร้างเวียงเชียงใหม่ อันได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยตั้งอยู่ ณ ข่วงสามกษัตริย์ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพหรือศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า)

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หล่อด้วยทองเหลืองและทองแดงรมดำ มีขนาดเท่าครึ่ง สูง 2.70 เมตร ใช้เวลา 10 เดือนในการออกแบบและทำการปั้นหล่อโดยอาจารย์ไข่มุกด์ ชูโต และได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์จากกรุงเทพมหานครขึ้นมมาประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) เวลา 11.49 น. โดยพระบรมรูปประกอบด้วย “พญามังราย” ประทับกลางเป็นประธาน “พญาร่วง” ประทับอยู่เบื้องซ้าย และ”พญางำเมือง” ประทับอยู่เบื้องขวา (หากหันหน้าเข้าหาองค์อนุสาวรีย์)

“พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” นี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์ 3 พระองค์ ผู้สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” หรือเชียงใหม่ในปัจจุบัน กล่าวคือ พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ผู้รวบรวมแคว้นและเมืองต่างๆเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา และพญางำเมืองกับพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตร ทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตรน้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา ครั้นพญามังรายเมื่อได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้วเสร็จ ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองฝางและตีได้เมืองหริภุญไชยจากพญายีบาและทรงสร้างเวียงกุมกาม ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็นมงคล เป็นที่ราบริมแม่น้ำปิงกับเขาดอยสุเทพ จงได้เชิญพระสหายทั้งสองมาร่วมปรึกษาหารือ และกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำปิง บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพเป็นที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ในเทือกเขาสลับซับซ้อนมีแม่น้ำปิงอยู่ทางด้านตะวันออก พื้นที่นั้นกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง พญาร่วงทรงมีพระราชดำรัสว่า “เมืองนี้ข้าศึกจะเบียดเบียนมิได้ คนไหนมีเงินพันมาอยู่จะมีเงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน”

เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้จึงได้ตั้งพิธีกัลปบาตฝังนิมิตหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน 6 พ.ศ. 1839 จันทร์เสวยฤกษ์ 16 ยามแตรจักใกล้รุ่งไว้ลัคนาเมืองในราศรีมินอาโปธาตุ สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้น

สำหรับ “อาจารย์ไข่มุกด์ ชูโต” ผู้ออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นประติมากรหญิงคนสำคัญของประเทศไทย ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นประติมากรหญิงคนแรกของประเทศไทย โดยมีผลงานอันเป็นที่ปรากฏมาแล้วมากมาย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร , พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร , พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ข่วงสามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ , หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล โรงเรียนราชินีบน กรุงเทพมหานคร , สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร โรงเรียนราชินีบน กรุงเทพมหานคร , สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม , เจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าทิพย์ช้าง) จังหวัดลำปาง , สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กองพันทหารราบที่ 7 ค่ายมหาสุรสิงหนาท จังหวัดระยอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *