สิงห์ล้านนา หน้าวัด
บริเวณหน้าวัด กำแพงวัด หรือ ณ บริเวณต่างๆภายในวัดล้านนา เรามักจะเห็น “สิงห์” หรือ “ราชสีห์” ยืนตระหง่านดูน่าเกรงขาม ซึ่ง สิงห์ นี้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดในล้านนา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความกล้าหาญ เชื่อกันว่า สิงห์ เป็น “สัตว์ป่าหิมพานต์” ที่ปรากฏในความเชื่อเรื่องจักรวาล ทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าทางเข้าและออกของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
“สิงห์หน้าวัดล้านนา” นี้ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะ “พุกาม” เมื่อครั้งที่พม่าเรืองอำนาจเข้ามาครอบครองดินแดนล้านนา ซึ่งด้วยระยะเวลาอันยาวนานที่ล้านนาถูกพม่าเข้าครอง จึงได้ถูกนำเอาความคิดตามคตินิยมของพม่าเผยแพร่เข้ามา โดยพม่ามีความเชื่อเกี่ยวกับ “สิงห์” ว่า “สิงห์ได้ลักพาเจ้าหญิงซึ่งมีพระโอรสและพระธิดาไป แต่ก็เลี้ยงดูด้วยความรัก วันหนึ่งทุกพระองค์พากันหนี พระโอรสฆ่าสิงห์ตาย กลายเป็นบาปกรรมทำให้พระองค์ทำอะไรก็ติดขัด จึงสร้างรูปปั้นสิงห์ไว้ที่ประตูวัดเป็นการไถ่บาป” จึงกลายเป็นอิทธิพลความเชื่อที่สืบทอดกันมายังดินแดนล้านนาจวบจนปัจจุบัน
เหมือนดั่งที่ปรากฎในความตอนหนึ่งของหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “เค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งฟากทางขึ้นบันไดนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์ อันมีลูกยังเป็นทารกติดไปด้วย 2 คน เอาไปเลี้ยงไว้ ครั้นลูกชายเติบใหญ่ พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ใน เมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวตามหา……จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้นฝากไว้กับเจดีย์สถานที่บูชา เลยเป็นประเพณีสืบมา”
ลักษณะของ “สิงห์หน้าวัด” จะเป็นสิงห์ตัวผู้ โดยสังเกตได้จากขนสร้อยคอ ซึ่งช่างจะปั้นให้อยู่ในท่านั่งด้วยสองเท้าหลัง งอหางขึ้นพาดไว้กลางหลัง สองเท้าหน้าตั้งยันพื้น อ้าปากแผดสิงหนาท ขนหัวตั้งชัน บางแห่งสิงห์จะคาบสตรีไว้ในปาก เรียกว่า “สิงห์คายนาง” ซึ่งเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมของพม่า ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นแบบลักษณะของศิลปะล้านนา คือมีขนาดพอเหมาะได้สัดส่วนสวยงาม ไม่สูงใหญ่เหมือนสิงห์แบบศิลปะพม่า