“ยักษ์” อมนุษย์ที่พระพรหมทรงสร้าง
“ยักษ์” ที่เราเห็นจนชิดตาในทุกวันนี้ เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งที่มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี โดยยักษ์ในความเชื่อของไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในขณะที่ความเชื่อในบริเวณอื่นๆของโลก ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมนุษย์ที่มีร่างกายใหญ่โต ชอบของสดคาว เช่นกัน ซึ่งเทียบได้กับยักษ์ในความเชื่อของคนไทยนั่นเอง
“ยักษ์” ในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกขึ้น เมื่อให้กำเนิดน้ำ พระองค์ต้องการให้มีผู้รักษาน้ำ จึงได้ทรงสร้างอมนุษย์ขึ้นมา 2 จำพวก พวกแรกเมื่อเกิดขึ้นร้องเรียกว่า “หิว” อยู่เป็นนิจ พระพรหมจึงเรียกอมนุษย์พวกนั้นว่า “ยักษ์” แปลว่า ผู้หิว ส่วนอมนุษย์จำพวกที่สอง ทรงให้รักษาทางน้ำ ทรงเรียกว่า รากษส แปลว่า ผู้รักษา ยักษ์และรากษสจึงเป็นอมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกัน
“ยักษ์” มีลักษณะเหมือนเทวดา แต่มีรัศมีและวรรณะทรามกว่า แต่ยักษ์เป็นผู้มีทรัพย์มาก มีความสามารถในการค้นหาและรักษาทรัพย์ เป็นผู้ชอบในการดื่มกินอาหาร และมียักษ์อีกจำพวกหนึ่ง มีลักษณะต่ำเตี้ยเหมือนคนแคระ พุงพลุ้ย ผมหยิก เรียกว่า คุหยัก เป็นผู้เฝ้ารักษาทรัพย์ตามถ้ำในป่าเขา ส่วนพวกรากษสมักอาศัยในป่าเขา ในน้ำ ในถ้ำ และจะเฝ้ารักษาอาณาเขตนั้น มีนิสัยดุร้ายกว่าพวกยักษ์ พวกยักษ์มีทั้งดีและชั่วร้าย ยักษ์ทั้งหลายปกครองโดย “ท้าวกุเวรมหาราช” หรือ “ท้าวเวสสุวรรณ” อยู่ที่เมืองอลกา บนยอดเขาคันธมาทน์ แต่ยักษ์บางจำพวกก็ปกครองกันเอง บางพวกก็เป็นมิตรกับอสูร
“ยักษ์” ในศาสนาพุทธเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา จะมีหลายระดับขึ้นกับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง เป็นแก้วมณี มีรูปร่างสวยงาม มีเครื่องประดับ มีรัศมี แต่ผิวจะดำ ดำอมเขียว อมเหลือง หรือดำแดงก็มี แต่ว่าดำเนียน มีอาหารทิพย์ มีบริวารคอยรับใช้ ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมาให้เห็น มีความเป็นอยู่เสวยทิพยสมบัติดังเทวดา ส่วนยักษ์ชั้นกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นบริวารคอยรับใช้ของยักษ์ชั้นสูง และยักษ์ชั้นต่ำที่มีบุญน้อยจะมีรูปร่างน่าเกลียด ผมหยิก ตัวดำ ตาโปน ผิวหยาบ และนิสัยดุร้าย
การเกิดของยักษ์นั้นเกิดได้ 4 แบบด้วยกัน คือเกิดแบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที , เกิดแบบสังเสทชะ เกิดในเหงื่อไคล , เกิดแบบชลาพุชะ เกิดในครรภ์ และเกิดแบบอัณฑชะ เกิดในไข่ โดยที่อยู่ของยักษ์ มักอยู่ตามถ้ำ ขุนเขา ในน้ำ ในดิน พื้นมนุษย์ และในอากาศ และมีวิมานอยู่ที่เขายุคนธรในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์ ก็เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดและรำคาญใจ
ยักษ์นอกจากจะมีเพศชายแล้ว ยังมียักษ์เพศหญิงอีกด้วย คือ ยักษี หรือ ยักษิณี หรือ นางยักษ์ ซึ่งมีบทบาทอยู่ในวรรณกรรมและตำนานต่างๆมากมายหลายเรื่อง พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงนางยักษิณีว่า “ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาหญิงเหล่านี้ เล้าโลมชายด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และด้วยมารยาหญิง กระทำให้อยู่ในอำนาจของตน เขาเรียกว่านางยักษิณี เพราะเล้าโลมชายด้วยกรีดกราย ครั้นรู้ว่าชายนั้นตกอยู่ในอำนาจแล้ว ก็จะให้ถึงความพินาศแห่งศีล และความพินาศแห่งขนบประเพณี”
สำหรับ “ยักษ์” ในความเชื่อของศาสนาอื่นๆนั้น ก็มีมากมาย อาทิ ผานกู่ ยักษ์ในเทพปกรณัมจีน เป็นผู้สร้างโลก , โทรล ยักษ์ในตำนานสแกนดิเนเวีย , ไซคลอปส์ ยักษ์ตาเดียวในเทพปกรณัมกรีก ,โกเลม ยักษ์หินในคติชนชาวยิว , โอเกอร์ ยักษ์ในคติของชาวตะวันตก และโอะนิ ยักษ์ในคติของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น