“ชาเชียงดาพารวย” ราชินีสมุนไพรพื้นบ้านหลากสรรพคุณ ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงแห่ง “บ้านป่าสักน้อย”
ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่บ้านป่าสักน้อย ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด ได้รวมตัวกันผลิตชาจากสมุนไพรเชียงดา ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก แต่ยังขาดองค์ความรู้อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กระบวนการเก็บรักษา การสงวนคุณค่าที่ดีของผลิตภัณฑ์ การจัดการบรรจุภัณฑ์ การตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดการด้านการเงินและบัญชี ทำให้การผลิตชาเชียงดาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมามีปัญหาหลายอย่าง นำไปสู่การขาดทุน และมีแนวโน้มที่จะยกเลิกกลุ่มผลิตชาเชียงดา
นส.โสรัตยา บัวชุม ผู้ใหญ่บ้านป่าสักน้อยและประธานกลุ่มเชียงดาพารวย ผู้นำชุมชนและสมาชิกกลุ่มผลิตชาเชียงดา จึงมีความต้องการที่จะให้สถาบันการศึกษาและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ไข ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้กลุ่มสามารถผลิตชาเชียงดาได้อย่างมีคุณภาพ มีการวิเคราะห์คุณค่าทางเภสัชวิทยาของชาตามหลักวิชาการ มีการวางแผนการตลาดและการจัดจำหน่าย รวมถึงการจัดการด้านการเงินและการบัญชี ส่งเสริมการมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป
ประกอบกับในเวลานั้นกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ได้มีการจัดทำโครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งวิชาการหลากหลายสาขา ได้นำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน แก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในประเทศ ประกอบกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานวิชาการ ที่มีบุคลากรและองค์ความรู้เชิงวิชาการ เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของชุมชน โดยมีแนวคิดที่จะใช้ชุมชนเป็นฐานและร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรม อีกทั้งมุ่งเน้นที่จะสร้างศักยภาพให้กับสมาชิกของชุมชน เมื่อชุมชนมีทรัพยากรบุคคลที่เข้มแข็งและเต็มไปด้วยความสามารถ ปัญหาต่างๆ จะถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ สร้างความเจริญให้กับชุมชน นำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสืบไป
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ วังราษฎร์ หัวหน้าสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ จึงได้เขียนโครงการเพื่อขอรับงบประมาณโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล และได้รับการพิจารณางบประมาณให้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพและยกระดับกลุ่มผลติชาเชียงดาบ้านป่าสักน้อย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก หน่วยงานภาคีเครือข่ายทีเกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก เทศบาลตำบลเชิงดอย และชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานใน ได้แก่ หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่นอีกมากมาย จนทำให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้กลุ่มผลิตชาเชียงชาพารวย มีกระบวนการบริหารจัดการภายในกลุ่มที่เข้มแข็ง มีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน แบ่งบทบาทหน้าที่ตามความเหมาะสม ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการกลุ่ม ได้แก่ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะด้านการบริหารวิสาหกิจชุมชนทักษะด้านการเวินและบัญชีเบื้องต้น ทักษะด้านการจัดการสินค้าและลูกค้า ทักษะด้านการพัฒนาช่องทางการตลาด ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการค้าออนไลน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากลุ่มต่อไป ชาสมุนสมุนไพรเชียงดาพารวย ผ่านกระบวนวิเคราะห์และวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสารและองค์ประกอบสำคัญ ทำให้ทราบถึงปริมาณและชนิดของสารที่เป็นองค์ประกอบในชาเชียงดา ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อหารูปแบบการผลิตและการแปรรูปที่เหมาะสม สามารถรักษาคุณค่าและสารประกอบสำคัญไว้ได้สุงสุด รวมไปถึงได้รับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สวยงาม ตามหลักเทคโนโลยีการบรรจุ เหมาะสมทั้งในเชิงของการเก็บรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และ การสื่อสารทางการตลาด ดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้
แม้ว่าโครงการระยะนี้จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามสมาชิกกลุ่มรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังจะสานต่อในด้านการตลาดเพื่อให้กลุ่มชาเชียงดาพารวย ก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนต่อไป