“วัดต้นผึ้ง” ลำพูน

“วัดต้นผึ้ง” บ้านต้นผึ้ง ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอุโบสถ และพระวิหาร พร้อมทั้งวัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่มีการพบจารึกโบราณที่เป็นจารึกอักษรฝักขามอีกด้วย

“วัดต้นผึ้ง” ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) บ้านต้นผึ้ง ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ตามประวัตินั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 โดยเจ้าราชบุตร เจ้าแม่เกี่ยง ณ ลำพูน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร และจารึกอักษรฝักขามโบราณ

“พระอุโบสถ” เป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2562 มีลักษณะเป็นอาคารล้านนาประยุกต์ที่สร้างก่อน พ.ศ.2500 ตัวอาคารสูงใหญ่ ก่อสร้างด้วยปูนและไม้อย่างกลมกลืน แต่ยังคงตกแต่งแบบล้านนาโดยเฉพาะม้าต่างไหมที่ประยุกต์เอาลวดลายตามสมัยนิยมมาตกแต่งร่วมกัน เช่น เทพพนม และธรรมจักร เป็นต้น ปัจจุบันถือเป็นอาคารที่หาชมได้ยากยิ่ง หน้าบันของพระอุโบสถทำจากไม้เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับกระจก

“พระวิหาร” เป็นพระวิหารที่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จไปเมื่อไม่นานนี้ สวยสะดุดตาด้วยลวดลายปูนปั้นสีทอง ทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนกหัสดีลิงค์ (สัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่มีกำลังมหาศาล ลำตัวเป็นนก มีปีกมีหางแบบนกแต่หัวเหมือนช้าง มีงวงมีงา) บนหลังคาในส่วนกลางสันหลังคาประดับปราสาทเฟื้อง โดยรูปแบบของปราสาทเป็นการจำลองคติจักรวาล เขาพระสุเมรุ ซึ่งสร้างเป็นปราสาทแทนค่าปราสาทไพรชยนต์ของพระอินทร์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ หรือหมายถึงปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้าท่ามกลางศูนย์กลางแห่งจักรวาลและล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 พร้อมกันนี้ภายในพระวิหารยังประดิษฐาน “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระประธาน และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามให้ชม

สำรับจารึกอักษรฝักขามโบราณที่พบที่วัดต้นผึ้งนี้ มีชื่อว่า “จารึกวัดต้นผึ้ง” เป็นจารึกหินทรายรูปใบเสมา สลักอักษรฝักขามที่มีอายุในราวๆปี พ.ศ. 2059 สมัยพระเมืองแก้ว (ครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2038-2068) โดยเนื้อหาในจารึกกล่าวถึงการอุทิศข้าพระให้อยู่ปฏิบัติดูแลพระพุทธรูปในวัด ปัจจุบันจารึกนี้ได้ถูกเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *