ลาบหมูดิบ หูดับได้แต้กา!!!

“ลาบ” เป็นวัฒนธรรมการกินและอาหารอันโอชะของคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลาบดิบ” ทั้งลาบหมูดิบและลาบเนื้อดิบ ในกรณี “ลาบหมูดิบ” นั้น เป็นที่วิพากษ์กันในวงกว้างว่า “อันตราย” ก่อให้เกิดภัยแก่ร่างกาย ทำให้ “หูดับ” ได้ ซึ่งวันนี้เราจะมาฟังคำตอบจากคุณหมอว่า…ลาบหมูดิบ หูดับได้แต้กา…!!!

ผศ.พญ.ศณัฐธร เชาวน์ศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้หูดับพวกนี้จะอยู่ในหมูที่ป่วยเป็นโรค เชื้อตัวนี้ชื่อว่า “สเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส” เนื้อหมูที่มีเชื้อและไม่ได้ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนเมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยเมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการแสดงหลากหลาย ได้แก่ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ และลูกตาอักเสบทำให้ตาบอด

โดยหากเกิดเยื้อหุ้มสมองอักเสบ เกินครึ่งของคนไข้จะมีปัญหาหูดับ หรือปัญหาการได้ยินตามมา เพราะเชื้อในสมองลุกลามเข้าสู่หูชั้นในและประสาทหู ในคนที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยินแล้วไม่ถึง 30% ที่การได้ยินจะฟื้นกลับขึ้นมา และถึงแม้ว่าการได้ยินฟื้นกลับขึ้นมาได้ ก็ไม่กลับสู่ภาวะปกติเหมือนเดิม กว่า 70% ของคนไข้ที่หูดับจากการรับประทานหมูดิบ ก็จะมีปัญหาสูญเสียการได้ยินในระยะยาวได้

ดังนั้น ต้องระวังในการรับประทานหมูดิบโดยเฉพาะลาบ หลู้ และส้า ซึ่งเป็นเมนูยอดฮิตของคนเมือง ควรกินลาบคั่วที่ปรุงสุกจะลดโอกาสการติดเชื้อตัวนี้ได้ ซึ่งนอกจากเชื้อจะติดต่อผ่านระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยผิวหนังบริเวณที่มีบาดแผลได้อีกด้วย ควรป้องกันร่างกายหากมีแผลเกิดขึ้นให้ปิดบาดแผล ก่อนที่จะไปสัมผัสกับเนื้อหมูดิบและเมื่อสัมผัสแล้วให้ล้างมือให้สะอาดทันที

(ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *