ไปที่ไหนก็มี “หม่าล่า”!!!
แรงดีไม่มีตก!!! กับกระแสความนิยมของเมนูที่ปรุงด้วย “หม่าล่า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมนูเสียบไม้ปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือพืชผักล้วนแต่นำซอสหม่าล่ามาปรุงได้ทั้งนั้น สามารถพบเห็นกันได้ง่ายๆตามสองข้างถนนหรือย่านชุมชนต่างๆ บ้างขายไม้ 5 บาท บ้างก็ขาย 10 บาท ตามแต่พ่อค้าแม่ค้าจะรังสรรค์
แท้จริงแล้ว “หม่าล่า” ไม่ได้เป็นเมนูอาหารแต่อย่างใด แต่เป็นเพียง “รสชาติ” เท่านั้น ซึ่ง หม่าล่า เมื่อแปลจากภาษาจีนมาเป็นไทยแล้ว จะได้ความหมายรวมๆว่า “ชาเผ็ด” หรือ “ความเผ็ดฉุนที่ทำให้ชา” ซึ่งคนไทยจะนิยมเรียกว่าอาการ “เด้าลิ้น”
ต้นกำเนิดที่ชัดเจนของ “หม่าล่า” นั้นไม่แน่ชัด แต่มีแหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุว่า “น่าจะเริ่มต้นมาจากตลาดกลางคืน” ที่ครัวของท่าเรือในนครฉงชิ่ง ประเทศจีน ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ด้วยรสชาติที่เข้มข้น เผ็ดร้อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น และชั้นน้ำมันหนาช่วยถนอมอาหาร รวมถึงช่วยกำจัดกลิ่นคาวที่ไม่พึงประสงค์ของอาหารที่มีราคาถูกหรือกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ เช่น เลือดที่แข็งตัว กระเพาะและไตของสัตว์ ทำให้มีการนำซอสหม่าล่ามาปรุงอาหารให้กับคนงานในท่าเรือกิน
ความเผ็ดของ “หม่าล่า” มาจากพริกไทยเสฉวนหรือฮวาเจียว ลักษณะคล้ายกับพริกไทย รสชาติคล้ายมะแขว่นในบ้านเรา นำผสมกับเครื่องเทศหลายชนิด ได้แก่ พริกแห้ง พริกป่น ซอสโต้วป้าน (ซอสถั่วที่มีความเผ็ด เป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งของจีน คล้ายน้ำพริกเผา) กานพลู กระเทียม โป๊ยกั๊ก กระวานดำ ยี่หร่า ขิง อบเชย เกลือ และน้ำตาล ส่วนผสมเหล่านี้จะนำไปเคี่ยวกับไขกระดูกของวัวและน้ำมันพืชเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนได้ “ซอสหม่าล่า” ออกมา ซึ่งซอสตัวนี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญของอาหารจีนเสฉวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารของนครฉงชิ่ง ต่อมาได้แพร่หลายออกไปยังภูมิภาคต่างๆของจีน จนในที่สุดก็ได้กระจายและได้รับความนิยมในประเทศไทยด้วย
“ซอสหม่าล่า” ถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหารหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทผัด ต้ม ตุ๋น ซุป ไปจนถึงหม้อไฟ หรือนำมาทำเป็นน้ำจิ้ม พร้อมกันนี้ในมณฑลเสฉวนและยูนนาน นำผงหม่าล่าสำหรับปรุงรสอาหารมาประกอบเป็นขนมหรืออาหารข้างถนน เช่น เต้าหู้เหม็น มันฝรั่งทอด บาร์บีคิวเนื้อ และผักเสียบไม้ เป็นต้น
“หม่าล่า” ได้เข้ามามีบทบาทในอาหารไทย โดยเริ่มต้นจากภาคเหนือ ซึ่งเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดแรกๆที่รับเอาวัฒนธรรมหม่าล่าเข้ามา ส่วนใหญ่จะนำมาในรูปแบบของเมนูปิ้งย่าง เช่น เนื้อสัตว์และผักเสียบไม้ย่างต่างๆ เติมหม่าล่าลงไปเพิ่มความเผ็ดร้อน และในปัจจุบัน หม่าล่า ได้ถูกนำมาประยุกต์ให้มีรูปแบบที่หลากหลากขึ้น อาทิ ชาบู สุกี้ หม้อไฟ และอาหารจานเดียว หรือแม้กระทั้ง น้ำจิ้มหมูกระทะ พิซซ่าหน้าหม่าล่า และก๋วยเตี๋ยวหม่าล่า ก็มี
ทุกวันนี้ “หม่าล่า” จัดเป็นอาหารที่มีรสชาติถูกปากคนไทยที่ชื่นชอบความจัดจ้านไปแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีร้านขายหม่าล่าอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียบไม้ปิ้ง รวมถึงงานปาร์ตี้ต่างๆมักจะมีมุมหม่าล่าปิ้งย่างให้เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ว่าแล้ว…เย็นนี้ก็หาเมนูหม่าล่ามากินเคียงกับเครื่องดื่มเย็นๆดีกว่า คงออกรสออกชาติยิ่งนัก…!!!