ปอยเหลินสิบเอ็ด – ออกหว่า – กาดหลู่เมืองปาย กับ “จองพารา”
ผ่านพ้นไปแล้วกับ “เทศกาลออกพรรษา” วันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท สำหรับวันออกพรรษานี้ในหลายที่หลายแห่งจะเรียกแตกต่างกันออกไป โดยในส่วนของ “ชาวไทใหญ่” ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะเรียกว่า “ปอยเหลินสิบเอ็ด” ที่จัดขึ้นช่วงเวลาออกพรรษาในราวเดือนตุลาคม หรือเดือน 11 ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ํา เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ํา เดือน 11
ประเพณีนี้ตามหมู่บ้านชาวไทใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างปราสาท จําลองที่เรียกว่า “จองพารา” หรือ ซุ้มประสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ประดับไว้ตามบริเวณวัดและบ้านเรือน
ส่วนเทศกาลออกพรรษาของชาวอําเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่า “ออกหว่า” จะมีการประดิษฐ์จองพารา ซุ้มราชวัตร และโคมไฟประดับตามบ้านเรือน เพื่อแสดงถึงการรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่เสร็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับสู่โลกมนุษย์ โดยมีพิธีตักบาตรตามวิถีไทยใหญ่ ขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่ม ตามถนนสายต่างๆในเขตเทศบาลตําบลแม่สะเรียง และเทศกาลออกพรรษาของชาวอําเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่า “กาดหลู่เมืองปาย” มีการประดิษฐ์จองพาราเล็กๆไว้ที่วัดและบ้าน เพื่อเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์
จะเห็นได้ว่าเทศกาลออกพรรษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ก็ล้วนแต่มี “จองพารา” เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยคำว่า “จอง” ในภาษไทใหญ่แปลว่า “วัด” หรือ “ปราสาท” ส่วนคำว่า “พารา” แปลว่า “พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า” จองพารา จึงหมายถึง ปราสาทที่สร้างขึ้น เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่กลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา
จองพารา หรือ ปราสาทพระ สร้างด้วยไม้ไผ่มาสานขัดราชวัตร มีฐานเป็นสี่เหลี่ยม แล้วบุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสี กระดาษเงิน กระดาษทองที่ตัดฉลุลาย รอบฐานตรงมุมทั้งสี่จะมีหน่อกล้วย หน่ออ้อย ต้นข้าว ดอกไม้ต่างๆผูกไว้ ใต้ฐานห้อยด้วยผลไม้ เผือก มัน ขนม กล้วย อ้อย
จองพารา ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนตัวจองพารา ซึ่งมีส่วนประกอบอีก 3 ส่วน ได้แก่ ฐาน ปราสาท และยอด และเครื่องห้องหรือเครื่องบูชา นั่งร้านที่ตั้งบูชาจองพารา จะสร้างไว้ที่หน้าบ้านหรือหน้าวัด โดยใช้ไม้ไผ่ฝังเป็นเสา 4 ต้น สานไม้ไผ่ทำชานสี่เหลี่ยมเป็นพื้น และทำกรอบรอบ 3 ด้าน เหลืออีกด้านทำเป็นบันไดพาดไว้ ที่มุมเข่งใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกไว้ และจัดประดับประทีปโคมไฟให้มีแสงสว่างสวยงาม
สําหรับการบูชาจองพารานั้น จะมีวัตรปฏิบัติดังนี้ ทุกเช้าถวายข้าวพระพุทธ จุดเทียนบูชา กลางคืนจุดเทียนบูชา ตั้งไว้ 7-15 วัน โดยเริ่มวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จากนั้นพอถึงวันแรม 8 ค่ำ หรือแรม 14-15 ค่ำ ซึ่งถือเป็นวัน “อ่องจ๊อด” วันปิดเทศกาล จะนำไปทิ้งไว้ในป่า ยกเว้นจองพาราที่ทำด้วยไม้หรือสังกะสีเป็นแบบถาวร อาจเก็บไว้ใช้ในปีต่อไปได้
ในเทศกาลนี้คนไทใหญ่ เชื่อว่าบุญกุศลจากประเพณี “จองพารา” จะทำให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ส่งผลให้ครอบครัวประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพไปตลอดปี