“วัดหางดง” วิหารล้านนาโบราณ

“วัดหางดง” วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกวัดหนึ่งที่เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ ที่มีอายุราวๆ 500 กว่าปี โดยมีความโดดเด่นที่ “พระวิหาร” ซึ่งเป็นวิหารศิลปะล้านนาลักษณะคล้ายกับวัดต้นเกว๋น

“วัดหางดง” ตามประวัติของกรมการศาสนาระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2027 ในปลายรัชสมัยพญาติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายที่ปกครองล้านนา ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง ถึงกับมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ที่วัดโพธาราม (หรือวัดเจ็ดยอด)

โดย วัดหางดง เดิมมีชื่อว่า “วัดสันดอนแก้ว” หรือ “วัดดอนแก้ว” ต่อมาทางราชการได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการตั้งแขวงแม่ท่าช้าง เป็นอำเภอหางดง จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดบ้านดง” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน และเปลี่ยนมาเป็น “วัดหางดง” จนถึงปัจจุบัน

“วัดหางดง” เป็นวัดที่มีพื้นเป็นทราย โดดเด่นที่ “พระวิหาร” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ลักษณะคล้ายกับวัดต้นเกว๋น อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติการสร้างว่าสร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่ง “วิหาร” ในครั้งพุทธกาลจะหมายถึงที่อยู่ของสงฆ์ เช่นเดียวกับกุฏิ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพนิพาน มีการสร้างพระพุทธรูปเป็นตัวแทนพระพุทธองค์
จึงสร้างอาคารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปดังกล่าว เป็นสถานที่สมมุติให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ เรียกว่า วิหาร

“วิหาร” ของวัดหางดง เป็นวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จของผนัง มีบันไดสำหรับพระสงฆ์ทางด้านข้าง บันไดนี้หน้าบันเป็นรูปนกยูง อันเป็นสัญญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ วิหารจะแบ่งส่วนยกเก็จผนังเป็น 5 ส่วน ตามพื้นที่ใช้สอย ได้แก่ โถงระเบียง 1 ส่วน ตัววิหาร 3 ส่วน คือ โถงพระเจ้า พระสงฆ์ และอุบาสก – อุบาสิกา และอีกหนึ่งส่วนเป็นส่วนพิเศษที่หาได้ยากในปัจจุบัน คือ หลังสุดของวิหารจะเป็นหอเก็บพระธรรมที่อยู่ภายในวิหาร

ด้านหน้าวิหาร บันไดเป็นมกรคายนาค โดยนาคจะหน้าตาไม่เหมือนกัน สันนิษฐานว่าเป็นตัวผู้กับตัวเมีย มกรมีขาหน้าและอุ้งเล็บ ที่เห็นไม่มีเกล็ดนั้นจะเป็นการปั้นแบบโบราณ ส่วนนาคลำยองหรือปั้นลมตลอดจนนาคเบือนเป็นไม้แกะสลัก ติดกระจกสี หน้าบันวิหารเป็นฝาปะกน รูปสี่เหลี่ยมซ้อนสลับกัน รูปเทพพนมและกินรีตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นปิดทอง ประดับด้วยกระจกสี

เสาของวิหารมีรูปทรงที่แตกต่างกัน ทั้งเสาแปดเหลี่ยนและเสากลม โดยเสาคู่หน้าสุดของวิหารจะเป็นเสาแปดเหลี่ยม แสดงถึงความหยาบกระด้างของจิตใจและกิเลสตัณหาของมนุษย์ ที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ส่วนภายในวิหาร เสาคู่แรกที่อยู่ระหว่างโถงระเบียงและโถงวิหารเป็นเสาแปดเหลี่ยมเช่นกัน ถัดมาเป็นเสากลม ลวดลายปูนปั้นปิดทอง มีลวดลายลายหน้ากาลคายนาค/คายพวงมาลัย ลายครุฑยุดนาค ลายเทพพนม และลายดอกไม้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดหางดง เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นด้วยเทคนิคสีฝุ่น เป็นภาพเขียนเรื่องราวชาดก เช่น เตมียชาดก มหาชนกชาดก และสุวรรณสามชาดก เป็นต้น ส่วนพระประธานในวิหารเป็นพระปางมารวิชัย

นอกจากนี้ในวิหาร ยังมี “ธรรมาสน์โบราณ” ชนิดไม้ทาชาดเขียนลายทองประดับกระจก ศิลปะล้านนาพุทธศตวรรษที่ 25

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *