“แอ่วลำปาง ม่วนแต้หนา” มาป่าเหมี้ยงถึงแม่แจ๋ม

มาแอ่วลำปางกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อ ล่าสุดสบโอกาสเที่ยวอีกครั้ง กับเส้นทางท่องเที่ยว “ลำปางสายเหนือ” งานนี้ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านมาตามเส้นทางของแม่กำปอง มาโผล่ที่ “บ้านป่าเหมี้ยง” อำเภอเมืองปาน

สถานที่ท่องเที่ยวแรกในเส้นทางนี้ที่แวะเที่ยว ก็คือ “กิ่วฝิ่น” จุดชมวิวทิวทัศน์เขตผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของ 4 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน ที่ในอดีตจุดนี้เคยเป็นที่พักของคาราวานพ่อค้าฝิ่น ซึ่งกิ่วฝิ่นอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,517 เมตร ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิบนยอดอาจลดลงเหลือเพียง 3 – 4 องศาเซลเซียส ตามทางขึ้นไปยังกิ่วฝิ่นมีสนสามใบขึ้นทั่วไป จากกิ่วฝิ่นเราจะได้ตื่นตาตื่นใจกับสายหมอกขาวที่ปกคลุมทั่วหุบดอย จนนึกว่ากำลังยืนอยู่ในความฝัน

สำหรับที่พัก บนดอยกิ่วฝิ่นจะไม่มีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่สามารถที่จะติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อกางเต็นท์ได้ หรือหากต้องการจะสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนสามารถที่จะเดินทางต่อไปยัง “บ้านป่าเหมี้ยง” หมู่บ้าน Slow Life ใจร่มๆ ที่ซุกตัวอยู่หลังทิวเขาในอ้อมกอดของผืนป่า

หมู่บ้านป่าเหมี้ยง เป็นหมู่บ้านที่ผู้คนหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยลมหายใจแห่งความสุขและวิถีพอเพียง ด้วยการประกอบอาชีพเก็บใบชาป่า นำมาแปรรูปเป็นของกินเล่นของคนภาคเหนือที่เรียกว่า “เหมี้ยง” จนเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าเหมี้ยง”

งานนี้ที่หมู่บ้านป่าเหมี้ยง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง อยากชวนคุณมาเที่ยว ทดลองเก็บใบเหมี้ยง ชิมอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย ชมดอกเสี้ยวบาน พักผ่อนในบรรยากาศธรรมชาติอันเย็นฉ่ำของผืนป่า แล้วดื่มด่ำความสุขแบบช้าๆให้เต็มอิ่ม ซึ่งดอกเสี้ยวของที่นี่จะบานสะพรั่งขาวโพรนไปทั้งป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยทางหมู่บ้านก็ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดเป็น “เทศกาลดอกเสี้ยวบาน” ให้ได้เที่ยวชมกันทุกปี

บ้านป่าเหมี้ยงมีโฮมสเตย์ให้พักหลายหลัง จัดการโดยคนในชุมชน ซึ่งต้องติดต่อมาล่วงหน้า สำหรับท่านที่มาพักโฮมสเตย์ที่นี่ เมื่อจัดแจงนำสัมภาระเข้าเก็บในบ้านเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะชวนสมาชิกเดินชมบรรยากาศหมู่บ้าน ความที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่นี่จึงร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด ตั้งแต่ไม้น้ำเล็กๆที่พลิ้วไหวอยู่ในลำธารไหลเย็น ไปจนถึงไม้ใหญ่ขนาด 10 คนโอบ ผืนป่ารอบบ้านป่าเหมี้ยงจัดเป็นป่าต้นน้ำระดับ 1-A ของแม่น้ำวัง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์จากชาวบ้านในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะการทำเหมี้ยงต้องอาศัยร่มไม้ใหญ่ค่อนข้างหนาทึบในป่าดิบเขา ที่ความสูงระดับ 900-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล และระบบรากของเหมี้ยงต้องรับอาหารและแร่ธาตุผ่านไมคอร์ไรซา เชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระบบรากของต้นไม้ในป่า ดังนั้นการที่ชาวบ้านดูแลรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับเป็นการทำนุบำรุงแหล่งผลิตรายได้ของชุมชน

กิจกรรมสำคัญเมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่ คือ การเที่ยวป่าเหมี้ยง เจ้าของสวนจะนำไปพร้อมอุปกรณ์ครบมือ ไล่ไปตั้งแต่ “ซ้า” หรือตะกร้าขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ใบเหมี้ยงสะพายอยู่บนบ่า มีตอกเส้นเรียวบางเอาไว้มัดเหมี้ยง มีดพร้าสำหรับฟันวัชพืช และ “ปอก” (หรือปลอก) ซึ่งทำจากแผ่นสังกะสีม้วนคล้ายแหวนใส่ที่ปลายนิ้ว ที่ปลายติดใบมีดโกนไว้ ใช้เก็บใบเหมี้ยง รวมทั้ง “ขอ” ซึ่งเป็นเชือกยาวที่ปลายเชือกติดตะขอไม้ใช้โน้มต้นที่สูงให้ต่ำลงจะได้เก็บง่ายขึ้น

เหมี้ยงที่นี่ไม่ใช่เมี่ยงคำ ของกินเล่นที่เราคุ้นเคย แต่เหมี้ยงแห่งนี้คือชาพันธุ์อัสสัม ที่เติบโตในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ อากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูง ชาวบ้านทำเหมี้ยงสืบต่อกันมาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ฤดูกาลเก็บเหมี้ยงเริ่มตั้งแต่เข้าฤดูฝนไปจนหมดฤดูหนาว ราวเดือนพฤษภาคมจนถึงกุมภาพันธ์

การเก็บเหมี้ยงไม่ใช่เด็ดทั้งใบ แต่ให้ตัดโดยเว้นก้านใบเอาไว้ เพื่อให้ใบเหมี้ยงได้หายใจ ไม่อย่างนั้นต้นจะไม่แตกยอด เน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้น  แม้วิถีของเหมี้ยงคือลมหายใจของที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ลมหายใจนี้กำลังแผ่วลงไปทุกที ด้วยปัจจุบันเหมี้ยงไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงนำพลับและกาแฟอะราบริก้ามาปลูก

จุดเด่นของชุมชนป่าเหมี้ยงที่สำคัญ คือ การทำเหมี้ยง เริ่มจากขั้นตอนการใส่ใบเหมี้ยงที่นึ่งแล้ว เรียงลงเป็นแถววงกลมในถัง เติมน้ำเปล่าแล้วหมักไว้ 20 วันถึง 1 เดือน ขึ้นอยู่กับความอ่อนความแก่ของเหมี้ยง จากนั้นนำขึ้นมาทุบเพื่อให้นุ่ม มัดส่งขายไปทั่วจังหวัดในภาคเหนือ  ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการกินเหมี้ยงมาแต่ดั้งเดิม นิยมอมเล่นเวลาหลังอาหารหรือทำงาน เพราะจะช่วยให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน เรียกกันเล่นๆว่าเป็น “โอเล่ดอย” ที่อยากจะให้ลองหยิบเหมี้ยงหนึ่งคำเข้าปาก รับรองรสชาติสุดจะบรรยาย ทั้งเปรี้ยว หวาน และฝาด หากไม่ลองจะรู้ได้ไง!

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีสิ่งที่ต้องลอง หากไม่ได้ลองแสดงว่ายังไม่ถึงป่าเหมี้ยง นั่นก็คือเมนูเด็ดต้องห้ามพลาดอย่าง “ยำใบเหมี้ยง” ที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ปัจจุบันกลายเป็นเมนูเด็ดที่จัดต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการเด็ดใบอ่อนปานกลางไม่ขมไม่แข็งจนเกินไป นำไปล้างแล้วซอยละเอียด ซอยหอมใหญ่ มะเขือเทศหั่นลูกเต๋า พริกขี้หนูซอยละเอียด กระเทียมสับละเอียดที่เจียวจนเหลืองหอม ลงคลุกเคล้า แล้วบีบมะนาว เติมน้ำปลา จากนั้นเทปลากระป๋องคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็จ๊าดลำ กับเมนูจานเด็ดน้ำพริกเห็ดหอมสด และไส้อั่วอร่อยเหาะอย่าบอกใครเชียว

จุดหมายต่อไปในเส้นทางนี้ คือ “ลานดอกเสี้ยว” ซึ่งต้นเสี้ยวเป็นไม้ป่าพื้นเมือง มีดอกสีขาว 5 กลีบ กลีบใหญ่จะมีแต้มสีชมพู พบได้ตามเขตภูเขาสูง ส่วนมากจะเป็นภาคเหนือ แต่ที่ป่าเหมี้ยงแห่งนี้ถือเป็นแหล่งที่มีต้นเสี้ยวขึ้นตามธรรมชาติมากที่สุด

เต็มอิ่มกับชีวิต Slow Life สไตล์ป่าเหมี้ยงกันไปแล้ว ปลายทางต่อไปอยู่ที่ “อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” อุทยานที่มีธารน้ำแร่ ที่เต็มไปด้วยโขดหินธรรมชาติ อันสวยงามแทรกกอยู่ท่ามกลางแอ่งน้ำร้อน น้ำแร่ของที่นี่มีอุณหภูมิสูงถึง 70 – 80 องศาเซลเซียส สามารถแช่ไข่ให้สุกได้ภายใน 15 นาที ไข่จะมีลักษณะไข่แดงสุกไข่ขาวสุกไม่แข็ง จะเหมือนมะพร้าวอ่อน เมื่อนำมาปรุงเป็น “ยำไข่แช่น้ำแร่” ซึ่งเป็นเมนูอาหารถิ่นที่ ททท.นำเสนอมาตั้งแต่ปี 2558 อร่อยยิ่งนัก

ณ แจ้ซ้อนแห่งนี้มีธารน้ำจากน้ำตกแจ้ซ้อนไหลมาบรรจบกับธารน้ำร้อนจากน้ำแร่ กลายเป็นธารน้ำอุ่น ทางอุทยานฯ ได้สร้างที่อาบน้ำแร่มาตรฐานเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นอุทยานที่ได้รับรางวัล “อุทยานแห่งชาติดีเด่นประจำปี 2543” ตามที่ กรมป่าไม้ได้จัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 104 ปี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยวประจำปี 2543 และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ในด้านการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานฯได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

แช่น้ำแร่เสร็จแล้ว ก็มาต่อกันยัง “บ้านแม่แจ๋ม” หมู่บ้านกลางหุบเขาที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ที่อำเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ถือว่ายังคงใหม่มากสำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ภายในหมู่บ้านจะมีอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวหลายอย่างที่น่าสนใจ และพร้อมจะให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชม ทั้งทางด้านธรรมชาติ และศิลปะวัฒนธรรม

เริ่มต้นด้วยการไปชม “ไร่กาแฟ” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดกาแฟระดับโลกเลยทีเดียว โดยไร่กาแฟนี้จะตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร และมีพื้นที่โดยรอบเป็นป่าเขาที่ห้อมล้อมไร่กาแฟเอาไว้ ด้านบนไร่กาแฟจะมีโรงคั่วกาแฟที่ชาวบ้านใช้งานอยู่เป็นประจำทุกวันและมีการสาธิตการดริปกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้ชิมแบบสดๆจากโรงคั่วด้วย

ต่อด้วยชมสวนชมไร่อีกเช่นกัน กับ “สวนแมคคาเดเมีย” ของไร่สุวรรณ ซึ่งที่มีต้นแมคคาเดเมียอยู่เต็มไปหมด ทั้งยังมีต้นบ๊วย และเชอร์รี่ปลูกแซมอยู่ด้วย โดยมาที่นี่นอกจากท่านจะได้ชมสวน ดูกรรมวิธีการเก็บแมคคาเดเมียแล้ว ยังจะได้ลิ้มรสความมันของแมคคาเดเมียในรูปแบบต่างๆด้วย ทั้งเมล็ดแมคคาเดเมีย กาแฟแมคคาเดเมีย และน้ำพริกแมคคาเดเมีย เมนูขึ้นชื่อของบ้านแม่แจ๋ม

นอกจากไร่และสวนแล้ว  บ้านแม่แจ๋ม แห่งนี้ยังมีจุดท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ของเมืองลำปางให้ชมอีกด้วย นั่นก็คือ “กิ่วหิน” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่อีกหนึ่งปลายทางฝัน ที่เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิวธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก สามารถเดินไปชมวิวสองข้างทางที่เต็มไปด้วยทะเลภูเขาได้แบบพาโนรามา แต่ต้องระวังกันด้วยเพราะทางเดินบางช่วงจะต้องปีนป่ายโขดหินเพื่อขึ้นไปชมวิว แต่รับรองว่าเมื่อเดินไปถึงสุดทางชมวิวแล้วละก็ มีธรรมชาติที่สวยงามรออยู่แน่นอน

นี่คืออีกหนึ่งเส้นทางเลือกเมื่อยามมาเยือน “ลำปาง ปลายทางฝัน” ว่างเมื่อไหร่ลองขับรถมาเที่ยวกัน แล้วจะรู้ว่า “ลำปาง ม่วนแต้หนา”…!!!

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *