(คลิป) หนาวแล้ว!!! มาเที่ยวกิ่วแม่ปาน “อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์” เปิดให้เที่ยวชม หลังปิดฟื้นฟู 5 เดือน
“นายกริชสยาม คงสตรี” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้จัดกิจกรรมเปิด “กิ่วแม่ปาน” ให้นักท่องเที่ยวได้เเข้าเที่ยวชมกันอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณลานด้านหน้าทางเข้ากิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยในกิจกรรมมีการแจกของรางวัลให้แก่ผู้เข้ามาลงทะเทียนเข้าเที่ยวชมกิ่วแม่ปานมากมาย พร้อมทั้งมอบบัตรมัคคุเทศน์ให้แก่มัคคุเทศน์ท้องถิ่น และอื่นๆอีกมากมาย
โดย “นายกริชสยาม คงสตรี” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า “กิ่วแม่ปาน พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้าเที่ยวชมอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ (ที่ 1 พ.ย. 62) เป็นต้นไป ซึ่งที่ผ่านมา 5 เดือน กิ่วแม่ปานได้ปิดเพื่อให้สภาพแวดล้อมได้ฟื้นตัว พร้อมทั้งทางอุทยานฯยังได้ปรับปรุงและจัดสร้างทางเดินเท้าขึ้นใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินเที่ยวชมกิ่วแม่ปานกันได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทางเดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ แต่นักท่องเที่ยวทุกท่านก็สามารถเดินเข้าเที่ยวชมกิ่วแม่ปานได้อย่างออกอรรถรส สำหรับการเข้าเที่ยวชมกิ่วแม่ปานนั้น ทางอุทยานฯจะเปิดให้เข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าเป็นต้นไป นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ ณ บริเวณทางเข้าเที่ยวชม โดยจะต้องจ่ายค่ามัคคุเทศน์ท้องถิ่นในราคา 200 บาทต่อ 1 กลุ่ม ซึ่งมัคคุเทศน์ท้องถิ่นจะนำพาทุกท่านเข้าเที่ยวชม พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับกิ่วแม่ปานตลอดเส้นทางเดินกว่า 3 กิโลเมตร”
สำหรับ “กิ่วแม่ปาน” เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าสำคัญในการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรของชาวไทยในภาคเหนือและที่ลุ่มภาคกลางให้มีความอุดมสมบูรณ์มาช้านาน โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 482 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 400 – 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงมีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และสังคมพืชกลุ่มอัลไพน์
จากสภาพธรรมชาติที่มีความงดงาม อุดมสมบูรณ์ และหาดูได้ยากในประเทศไทย จึงทำให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เหมาะสำหรับเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติ และสถานที่พักผ่อน ให้ความเพลิดเพลิน การเดินทางศึกษาธรรมชาติ ณ กิ่วแม่ปานนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ และใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น
การมาเข้าเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติในกิ่วแม่ปานนั้น หากจะให้ได้อรรถรสสมบูรณ์แบบ ต้องมาเที่ยวชมในยามเช้าตรู่ ชมแสงแรกของวันกันก่อน ณ บริเวณจุดชมวิวกิ่วแม่ปาน ทางด้านหน้าทางเข้า จากนั้นก็เข้าเดินเที่ยวชมกันได้ตามปกติ โดยทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานนั้น จะตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 42 ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร เส้นทางโดยรอบมีลักษณะเป็นวงรอบที่เดินลาดชันขึ้นไปทางทิศตะวันตก จนกระทั่งถึงบริเวณสันกิ่วแม่ปาน และอ้อมลงมาทางทิศใต้ตามสันกิ่ว ซึ่งเป็นทางลาดชันลงและในที่สุดจะวกกลับมาทางทิศตะวันออก เป็นทางลาดชันเช่นกัน เพื่อไปบรรจบกับทางเดินที่เข้ามาในครั้งแรก
ในทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ท่านจะได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ “ป่าเมฆ” ธรรมชาติอันโดดเด่นที่สุดของดอยอินทนนท์ ที่เป็นอาณาจักรของป่าดิบเขาที่รายล้อมไปด้วยป่าดิบเขาระดับสูง ซึ่งมักพบได้ที่ความสูงมากกว่าสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีความชื้นสูงตลอดปี จะมีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดเวลา บางท่านจึงเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าเมฆ” ตามต้นไม้ต่างๆจึงมีพืชที่ชอบความชื้น จำพวกมอส เฟิร์น ฝอยลม และกล้วยไม้ป่า ขึ้นอยู่อย่างหน่าแน่น มีไม้วงศ์ก่อและทะโล้เป็นพรรณไม้เด่นของป่าแห่งนี้
“สายน้ำสายใยแห่งชีวิต” ป่าดิบเขาผืนนี้ มีส่วนสำคัญในการซึมซับและปลดปล่อยน้ำสู่ลำห้วยลำธาร บนพื้นป่ามีซากพืชปกคลุมค่อนข้างหนา เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น การสลายตัวของซากพืชเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้สิ่งปกคลุมหน้าดินเปรียบเสมือนฟองน้ำที่มีรูพรุน เกิดผลดีต่อการดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ในดิน นอกจากนั้นบรรดามอส เฟิร์นที่ขึ้นตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ยังทำหน้าที่ดูดซับความชื้นทที่มากับเมฆหมอก และกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลงสู่ดินอีกด้วย น้ำที่ไหลสู่ดินจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยลงสู่ลำห้วยลำธารตลอดปี ต้นน้ำแห่งนี้จึงยังอยู่ในสภาพดี ไม่ถูกบุกรุกทำลาย และไม่ถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี
“ไม้เด่นของป่าดิบเขา” ระหว่างทางเดินป่า ท่านอาจจะเห็นลูกไม้เปลือกแข็งตกเกลื่อนบริเวณ มีทั้งที่เป็นผลกลมเล็กติดกันเป็นพวง ผลแป้นคล้ายตลับ หรือผลรูปร่างคล้ายหมวก ผลเหล่านี้เป็นผลของไม้ก่อชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในกลุ่มไม้โอ๊ค ต้นก่อจัดเป็นไม้เด่นที่ใช้ในการบ่งชี้ความเป็นสังคมพืชป่าดิบเขา ที่พบในประเทศไทยมีด้วยกัน 4 สกุล คือ ก่อหมวกหรือก่อตลับในสกุล Quercus ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ในสกุล Castanopsis ก่อพวงในสกุล Lithocarpus และก่อดอยช้าง สกุล Trigonobalanus ผลของไม้ก่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า เปลือกก่อบางชนิดใช้ย้อมหนังได้ดี
“ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์” เป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ มักพบปกคุลมสันเขาและยอดเขาบริเวณที่มีความสูงกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะของพื้นที่ป่าเป็นที่โล่ง ดินค่อนข้างตื้นและมีหินโผล่ มีหญ้าปกคลุมสลับกับพุ่มไม้ และพืชล้มลุกที่พบในเขตอบอุ่น สันนิษฐานว่าเกิดสังคมพืชเช่นนี้ เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี และมีการแปรปรวนของแรงลมสูง จึงทำให้ไม้ใหญ่ของสังคมพืชป่าดิบเขาระดับสูง ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ พันธุ์ไม้หลายชนิดที่พบได้แก่ บัวทอง มะแหลบ ต่างไก่ป่า และกูดดอย เป็นต้น ที่นี่ท่านอาจเจอร่องรอยของหมูป่า เนื่องจากทุ่งหญ้าบริเวณนี้และราวป่าข้างเคียง เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของหมูป่า และเมื่อท่านเดินต่อไปจนถึงบริเวณจุดชมวิว ท่านอาจโชคดีได้เห็นเลียงผา และกวางผาไต่อยู่บนหน้าผา
“ธรณีสัณฐานกิ่วแม่ปาน” ซึ่ง “กิ่ว” คือลักษณะของภูมิประเทศแบบสันเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยบนสันนั้นจะแคบและมีไหล่เขาสองข้างลาดชันมาก ด้านขวามือจะมีต้นช้ามะยมดอยขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นผืนใหญ่ตามลาดเขา ช้ามะยมดอยเป็นพุ่มในวงศ์กุหลาบดอย ผลมีรสอร่อย สำหรับหินสองแท่งตั้งคู่กันบนไหล่เขา เรียกว่า “แง่มน้อย” แง่มเป็นภาษาเหนือ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ง่าม” หินสองแท่งนี้เป็นหินแกรนิตที่เกิดจากหินหลอมเหลวใต้ผิวโลกที่ดันตัวขึ้นมา และผิวโลกมีการยกตัวขึ้นเป็นภูเขาเมื่อประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว ส่วนประกอบของหินที่อ่อน ง่ายต่อการผุพังกัดกร่อน ก็จะสลายตัวไปในที่สุด เหลือเพียงส่วนที่คงทน เช่น ส่วนของแง่มน้อยทั้งสอง
และ “กุหลาบพันปี” ไม้ยืนต้นที่มีดอกแดงพราวไปทั้งต้น ลักษณะลำต้นที่คดงอและแคระแกรนด้วยแรงลมปะทะหน้าผา พร้อมด้วยไลเคนส์ที่เกาะตามกิ่งก้านของกุหลาบพันปี เป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก กุหลาบพันปีเป็นไม้สกุลโรโดเดนดรอนในวงศ์กุหลาบดอย ไม้ประเภทนี้ชอบขึ้นในดินที่เป็นกรดและตามลาดเขาที่มีดินตื้น กุหลาบพันปีในบ้านเรายังมีอีกหลายชนิด ทั้งดอกสีแดงและดอกสีขาว ทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้พุ่นและไม้อิงอาศัย พบได้ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป
ทั้งหมดที่คุณๆได้เห็นในกิ่วแม่ปานนี้ เป็นสรรพสิ่งในโลกที่ล้วนก่อเกิดและเกื้อกูลกัน ภายใต้วัฏจักรของธรรมชาติ เพราะมีป่ากักเก็บน้ำ เพราะมีน้ำจึงมีชีวิต การดำรงอยู่ของทุกสิ่ง จึงต้องอาศัยความเข้าใจ และจิตสำนึกที่ตระหนักให้เห็นถึงคุณค่า นำไปสู่การเติมความพยายามที่จะรักษาไว้ เพื่อก่อประโยชน์ต่อทุกชีวิต และสร้างความงดงามอันไม่จำกัดให้กับโลกนี้ตลอดไป
งานนี้หนาวแล้ว นักท่องเที่ยวทุกท่านที่รักในธรรมชาติ ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาเที่ยวชมความงดงามนี้ ที่ซึ่งศิลปินผู้ชื่อ “ธรรมชาติ” ได้สรรค์สร้างขึ้น ในนาม “กิ่วแม่ปาน” มาแล้วทุกท่านจะไม่ผิดหวัง ได้ทั้งความรู้ อาหารตา กำลังกาย และอากาศอันบริสุทธิ์ ที่หาไม่ได้ง่ายๆในตัวเมือง
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทรศัพท์ 053-268550 หรือ www.dnp.go.th และ www.fca16.com