“106” เส้นทางศรัทธา 3 ครูบาสู่ล้านนาหละปูน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง ชวนท่องเที่ยว “เส้นทาง 106 ศรัทธา 3 ครูบาสู่ล้านนาหละปูน” (เถิน – ลี้ – บ้านโฮ่ง – ป่าซาง – ลำพูน) ซึ่งอดีตเคยเป็นเส้นทางหลักของผู้คนในการสัญจรสู่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางศรัทธาของ 3 ครูบา อันได้แก่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา พร้อมทั้งยังอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย
โดยจากความรุ่มรวยทางวิถีวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทำให้จังหวัดลำพูน จังหวัดเล็กๆที่สงบเงียบและเรียบง่าย แต่ยังคงวิถีอัตลักษณ์ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นวิถีของคนเมืองที่แม้จะมีหลากหลายชาติพันธุ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหาย นั่นก็คือ “ความศรัทธา” ที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ใครบ้างที่จะรู้ว่าจังหวัดลำพูน เป็นแหล่งกำเนิดของ “ตนบุญแห่งล้านนา” ผู้ยิ่งใหญ่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีครูบาที่มีศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพและมากด้วยพลังศรัทธา
ซึ่ง ททท. สำนักงานลำปาง จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนเชื่อมโยงกับจังหวัดลำปาง ในเส้นทางหลวงหมายเลข 106 (เถิน – ลี้ – บ้านโฮ่ง – ป่าซาง – ลำพูน) ที่อดีตเคยเป็นเส้นทางหลักของผู้คนในการสัญจรสู่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีเส้นทางถนนพหลโยธินทางหลวงหมายเลข 1 ในปัจจุบัน โดยกำหนดชื่อเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางนี้ว่า “เส้นทาง 106 ศรัทธา 3 ครูบาสู่ล้านนาหละปูน”
“เส้นทาง 106 ศรัทธา 3 ครูบาสู่ล้านนาหละปูน” เริ่มเส้นทางจากอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน มุ่งหน้ามาตามเส้นทางสู่อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เข้าอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นเส้นทางที่ผ่านภูเขา มีความสวยงามทางธรรมชาติ บางช่วงมีความคดเคี้ยว เมื่อเข้าสู่อำเภอลี้จะพบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั้งโบราณสถาน วัดสำคัญ ชุมชนท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติ น้ำตก และแก่งก้อที่เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ “คิดถึงวิทยา”ด้วยการหยิบยกเอาเรื่องราวชีวิตจริงของคุณครูผู้เสียสละ กับนักเรียนด้อยโอกาสแห่งโรงเรียนแพกลางน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล (โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และที่สำคัญที่นี่มี “เกจิอาจารย์” หรือ “ครูบานักพัฒนา” นาม “ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” ที่เคารพนับถือของชาวอำเภอลี้และพุทธศาสนิกชนทั่วไป มากราบสรีระของท่านที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย
ในเส้นทาง 106 ศรัทธา 3 ครูบาฯนี้ ครูบาองค์แรก คือ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ท่านถือกำเนิดที่ ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้ก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามในล้านนาไว้มากมาย อาทิ ก่อสร้างพระธาตุบ้านปาง พระธาตุแม่ตืน สร้างประตูเมืองลี้ สร้างวิหารวัดพระสิงห์ บูรณะหอธรรมวัดพระสิงห์ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สร้างวิหารวัดพระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่ บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย สร้างพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ สร้างวิหารหลวง วัดทุ่งเอื้อง จังหวัดพะเยา สร้างวิหารพระแก้วลำปาง วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง และอีกมากมายในพื้นที่ภาคเหนือ ความมีชื่อเสียง ความสำเร็จผลในด้านการเป็นพระนักพัฒนาดูเหมือนว่าการบำเพ็ญบารมีธรรมในชีวิตของครูบาศรีวิชัยจะก้าวไปพร้อมกันกับอุปสรรคแสนเข็ญ ด้วยคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ในล้านนาไม่พอใจในตัวท่าน จนถึงขนาดมีการกล่าวหาเอาผิดท่านถึง 3 ครั้ง โดยกล่าวหาว่าท่านทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจองจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตั้งกรรมการชำระคดีครูบาศรีวิชัย ผลปรากฏว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิด และส่งตัวท่านกลับสุ่มาตุภูมิ คนทั่วไปรู้จักครูบาเจ้าศรีวิชัยว่าสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุข้างบนนั้น ยิ่งเห็นรูปปั้นท่านตรงเชิงดอย ก็เลยสรุปเป็นความเข้าใจเอาเองว่า ท่านเป็นคนเชียงใหม่ อยู่เชียงใหม่ หารู้ไม่ว่า อธิกรณ์ครั้งที่ 6 ถูกสอบสวนที่เชียงใหม่แล้ว ยังถูกนำตัวไปวินิจฉัยโทษในกรุงเทพฯ นานถึง 6 เดือนกว่า ณ จุดนี้…..นำไปสู่ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ต้องลั่นวาจา ประหนึ่งกรวดน้ำคว่ำขันกับเมืองเชียงใหม่ว่า “ตราบใดที่น้ำปิงไม่ไหลย้อนกลับ จะไม่ขอไปเหยียบนครเชียงใหม่” เหตุเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในเชียงใหม่ยามที่เดือดร้อน เมื่อลั่นวาจา ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็กลับถิ่นบ้านเกิด คือ ลำพูน ไปจำพรรษาวัดบ้านปาง ที่อำเภอลี้ และไม่กลับไปเหยียบเชียงใหม่อีกเลย แม้จะมีการอ้อนวอนกันขนาดไหน ท่านก็ไม่กลับ ตราบมรณภาพ ใน พ.ศ.2481 สำหรับรูปปั้นองค์ท่านประดิษฐานตรงทางขึ้นดอยสุเทพ เล่ากันว่าเนื่องจากมีการปิดกั้นน้ำในเขื่อนภูมิพลส่งผลให้แม่น้ำปิงไหลย้อนขึ้นเชียงใหม่ ศิษยานุศิษย์จึงสามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งได้ทั้งๆที่ก่อนหน้าพยายามเคลื่อนย้ายแต่ไม่เป็นผล จะเกิดเหตุเพศภัยทุกครั้งไป
ครูบาท่านองค์ที่สอง คือ “ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี” ศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม ครูบาผู้มีจริยวัตรที่งดงาม ผู้สืบต่อสานงานพัฒนาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยในฐานะนักบุญ ครูบาผู้ทรงความงดงามในศีล บารมี ไม่แพ้ท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย นอกจากนี้ท่านยังได้บูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามและสถานที่สำคัญๆมากมาย อาทิ วัดพระพุทธบาทผาหนาม โรงเรียนบ้านสามหลัง (อภิชัยบูรณะ) อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลอีกมากมาย นอกจากสถานที่ที่ท่านได้บูรณะแล้วท่านยังคงสร้างสรรค์งานต่างๆในรูปถาวรวัตถุ ทั้งในด้านพุทธจักร และอาณาจักรไว้อย่างมากมายเหลือคณา นอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สร้างความเชื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่ชาวกระเหรี่ยง ที่อพยพมาอยู่ตามเชิงดอยผาหนาม จนสามารถเปลี่ยนความเชื่อจารีตประเพณีของชาวกระเหรี่ยงที่นับถือผีไหว้เจ้า ให้หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหันมากินมังสวิรัติแทนเนื้อสัตว์
และครูบาท่านองค์ที่สาม คือ “ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม ครูบานักพัฒนา โดยเส้นทางการพัฒนาของท่านเป็นเส้นทางที่ลึกซึ้งไปกว่าที่สายตาคนทั่วไปมองเห็น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่วประเทศ ด้วยวัตรปฏิบัติและคำสั่งสอนของท่านทำให้ชาวไทยภูเขาที่พเนจรร่อนเร่ ตั้งใจอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้ๆกับท่าน ท่านได้เปลี่ยนคนที่นับถือผีให้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ และได้เปลี่ยนคนที่กินเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด มาเป็นคนที่กินมังสวิรัติ ที่ “บ้านห้วยต้ม” พัฒนาชาวเขาที่ด้อยความรู้ที่ไร้ฝีมือ ให้ช่วยสร้างโบสถ์สร้างศาลาสอนวิชาช่างให้แก่ชาวเขาเหล่านั้นจนเป็นความรู้ที่ส่งผ่านความรู้เหล่านั้นสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ในวันที่ 18-20 เมษายนของทุกปี เทศบาลตำบลวังดิน ได้จัดกิจกรรมเปลี่ยนผ้าและสรงน้ำรูปเหมือนสามครูขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทุกท่าน ได้มีโอกาสแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณงามความดี ที่ครูบาทั้งสามท่านได้ทำไว้แก่ประชาชนชาวลี้และคนล้านนา โดยมีพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา ขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และแห่สลุงหลวง แล้วทำพิธีเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนสามครูบาและสรงน้ำอนุสาวรีย์สามครูบาสืบเนื่องกันมาตลอดทุกปี
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเส้นทาง 106 นี้ มีมากมาย อาทิ “ชุมชนพระบาทห้วยต้ม” ชุมชนชาวปกาเกอะญอ ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่มีความน่าสนใจ เนื่องจากชุมชนพระบาทห้วยต้มเปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธา ถือเป็นหมู่บ้านที่ถือศีล 5 กินมังสวิรัติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ นับถือหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และยึดเอาหลักธรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยในหมู่บ้านจะมีกฎในการเข้าเยี่ยมชนหมู่บ้าน นั่นคือ การห้ามทานเนื้อสัตว์ และไม่นำเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน โดยในชุมชนพระบาทห้วยต้ม ชาวบ้านจะขายอาหารที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น ในทุกๆวันจะมีการตักบาตรผัก ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับใครที่รักความสงบ และสนใจในวิถีชีวิตที่มีความสงบ เงียบและเรียบง่าย
ในชุมชนพระบาทห้วยต้มยังมี “ศูนย์หัตกรรมบ้านห้วยต้ม” ซึ่งเนื่องจากชุมชนพระบาทห้วยต้ม อยู่ภายในการดูแลของโครงการหลวง ทำให้เกิดการสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในชุมชน โดยศูนย์หัตรกรรมจะมีสินค้า OTOP เป็นสินค้าจากฝีมือของชาวบ้าน และสะท้อนให้เห็นถือวัฒนธรรมของชุมชนพระบาทห้วยต้ม ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอกี่เอว และการแปรรูปจากผ้าทอ ซึ่งถือว่าการทอผ้าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมเครื่องเงินที่ทำด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลำพูน โดยเครื่องเงินของที่นี่ได้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา ความเชื่อของชนเผ่า จากการที่ดัดแปลงจากธรรมชาติ เช่น รูปปลา ผีเสื้อ ลายดอกไม้ เป็นต้น
และ “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” วัดประจำหมู่บ้านชุมชนพระบาทห้วยต้ม ทุกๆเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญใส่บาตรกันที่วัดนี้ อาหารที่ถวาย คือ ผักสด น้ำพริก และข้าว สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อของใส่บาตรจากตลาดภายในหมู่บ้าน ซึ่งถ้าหากมาท่องเที่ยวที่ชุมชนพระบาทห้วยต้มในช่วงวันพระ ก็จะพบพี่น้องชาวปกาเกอะญอ พร้อมลูกหลานแต่งตัวด้วยชุดชาติพันธุ์สีสันสวยงาม พากันมาที่วัด และมีการจัดลำดับการตักบาตรโดยเริ่มจากผู้ชาย ผู้หญิงที่มีครอบครัวและสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานตามลำดับ ซึ่งถือเป็นภาพที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว เพราะชาวบ้านทุกคนจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อทำสังฆทาน ทำวัตร สวดมนต์ ทำให้สามารถซึมซับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพระบาทห้วยต้มได้อย่างท่องแท้
“พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” สถาปัตยกรรมศิลปะล้านนา สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ที่ขุดจากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด นับว่าพระมหาธาตุเจดีย์ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสีทองเหลืองอร่าม โดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอที่อาศัยในชุมชนห้วยต้มจะต้องเดินทางไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า แต่ด้วยว่าชาวปกาเกอะญอบางคนมีเงินน้อยไม่สามารถเดินทางไปพม่าได้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงจัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยขึ้น โดยจำลองเจดีย์ชเวดากองของประเทศพม่า เพื่อให้เป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ให้ชาวปกาเกอะญอและพุทธศาสนิกชนทั่วไปมากราบไหว้บูชา
บนเส้นทางจากอำเภอบ้านโฮ่งสู่อำเภอลี้ มีโบราณสถานสำคัญในเส้นทางผ่าน อาทิ “วัดพระพุทธบาทผาหนาม” ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของอำเภอลี้ ภายในวัดมีสองจุดให้ได้ชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีเป็นจุดเด่น ภายในวัดได้เก็บสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของครูบาอภิชัยบาวปี ซึ่งบรรจุไว้ในโลงแก้ว ณ หอปราสาทรักษาศพ และในทุกวันที่ 3 ของเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าครองสรีระครูบาอภิชัยขาวปี มีศิษยานุศิษย์หลั่งไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ (พระธาตุทอง พระธาตุขาว) โดยมีสะพานไว้สำหรับเดินเชื่อมถึงกัน นอกจากจะได้กราบไหว้พระธาตุแล้ว หากใครที่เดินทางขึ้นไปบนพระธาตุช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า จะได้เห็นกับทะเลหมอกและสามารถชมวิวทิวทัศน์ของอำเภอลี้ได้แบบ 360 องศาอีกด้วย
“วัดบ้านปาง” บ้านเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกและยังเป็นสถานที่ดับขันธ์มรณภาพของตนบุญแห่งล้านนา ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น เมื่ออยู่ด้านบนก็จะมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามเนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินเขา มีโบราณสถานอันเก่าแก่ เมื่อครั้งสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ก็คือพระวิหารหลวง ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา ลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งมีโบสถ์วิหารที่สวยงามรวมไปถึง มีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน
ในเส้นทาง 106 นี้ นอกจากจะได้สัมผัสวิถีวัฒนธรรมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่รอการมาเยือนและมีความสวยงาม อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดลำพูน ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ทั้งปี โดยในช่วงฤดูฝน อากาศจะเย็นสบาย สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ของพืชไม้นานาพันธุ์ อีกทั้งยังสามารถชื่นชมความงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงได้อีกมากมาย เหมาะสำหรับคนที่รักความสงบ ต้องการผ่อนคลาย และชื่นชมความงดงามของธรรมชาติอีกด้วย ได้แก่ น้ำตกก้อหลวง , น้ำตกก้อน้อย , แก่งก้อ และจุดชมวิวผาแดงหลวง
ส่วนเมื่อท่านเดินทางก้าวเข้าสู่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปางแล้ว ท่านจะได้พบกับวัดโบราณแบบล้านนา คือ “วัดเวียง” มีพระธาตุเล็บมือบรรจุในองค์พระธาตุ มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมและอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี
นี่เป็นเพียงบางส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวบน “เส้นทาง 106 ศรัทธา 3 ครูบาสู่ล้านนาหละปูน” เท่านั้น ในเส้นทางนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย รอให้คุณๆได้แวะมาเที่ยวกัน ซึ่งงานนี้มาเที่ยวแล้วได้ทั้งบุญและความเพลิดเพลินไปในขณะเดียวกัน
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทรศัพท์ 054-222214 อีเมล : tatlampang@tat.or.th และเพจเฟสบุ๊ค : ททท.สำนักงานลำปาง โดย ลำปาง ลำพูน เมืองรอง ที่ต้องมาลอง รับรองว่ามีอะไรดีๆมากกว่าที่คุณคิด