ชมจิตรกรรมฝาผนังสุดวิจิตร อายุกว่า 300 ปี ที่ “วัดบวกครกหลวง”

“วัดบวกครกหลวง” ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดเล็กๆที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ภายในวัดโดดเด่นและสวยงามไปด้วย “วิหารแบบล้านนา” และ “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” อันวิจิตรภายในวิหาร

“วิหาร” วัดบวกครกหลวงนั้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อในไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่จากการสืบประวัติภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏพอจะประมาณได้ว่าอายุของวิหารหลังนี้มีไม่ต่ำกว่า 300 ปี วิหารได้มีการซ่อมแซมบูรณะเรื่อยมา โดยบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 จากหลักฐานจารึกที่ปรากฏบนหน้าบันเขียนเลข พ.ศ. 2468 ไว้ ซึ่งคงเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยนั้น

โครงสร้างของวิหารเป็นไม้ผสมปูน หลังคาเป็นหลังคาจั่วซ้อนสามชั้น ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมาคลุมราวบันได ซึ่งทำเป็นมกรอมนาคที่มีปากลักษณะเหมือนจะงอยปากนกแก้วหรือจะงอยปากครุฑ ทำด้วยปูนปั้นประดับกระจกปิด แตกต่างจากวัดอื่นๆ ภายในวิหารมีธรรมาสน์เทศน์ที่มีอายุเก่าแก่และสวยงาม เป็นรูปทรงปราสาท ประดับตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ปั้นลมเป็นนาคลำยอง หางหงส์ทำเป็นหัวนาค ราวโก่งคิ้วด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักปิดทอง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นลายก้านขดปิดทองแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน นาคลำยองหางหงส์รูปหัวนาคปิดทองประดับกระจกสี มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืน เครื่องบนของเพดานเปิดให้เป็นโครงสร้างไม้และเสารับน้ำหนักของหลังคา ผนังก่ออิฐถือปูนสูงถึงคอสอง วิหารนี้มีประตูด้านข้างทำเป็นมุขยื่นออกมา ด้านหน้าวิหารทำประตูไม้แกะสลักปิดทอง ลักษณะทั่วไปของวิหารมีสัดส่วนและองค์ประกอบงดงามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา

จากแผนผังวิหารแห่งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าและด้านหลังมีการลดขนาดความกว้างของห้องเป็น 3 ช่วง เพื่อให้สอดคล้องกับชั้นลดของหลังคา ด้านหลังทำเป็นฐานชุกชีไว้ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูป และยังมีสิ่งที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพบได้ในวิหารล้านนาทั่วไปคือ สัตตภัณฑ์ อันเป็นเครื่องสักการบูชาภูเขาทั้ง 14 ในไตรภูมิตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่จะใช้กันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา โดยชาวบ้านจะนำเทียนมาจุดบนสัตตภัณฑ์นี้ มีลักษณะสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ตรงกลางทำเป็นรูปเทพพนมและมีลายพันธุ์พฤกษา ด้านหลังรูปเทพพนมประดับแก้วอังวะ (กระจกจีน) ด้านข้างทำเป็นรูปมกรคายนาค สัตตภัณฑ์นี้จะตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน

หลังคาวิหารเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นรูปนาคตามคติชาวล้านนาที่เชื่อว่า วิหารเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ต้องมีนาคคอยดูแลอยู่ จึงมีการประดับตกแต่งด้วยนาค

“ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” ในวิหารวัดบวกครกหลวง เขียนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาต หรือเรื่องทศชาติชาดก จำนวน 14 ห้อง จิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนบนผนังรอบๆวิหารระหว่างช่องเสา ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว สำหรับเรื่องที่เขียนนั้นทางทิศเหนือเป็นภาพชาดก เรื่องมโหสถชาดก ส่วนทางทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ) จิตรกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต และเป็นที่น่าสังเกตว่าจิตรกรรมฝาผนังในล้านนา จะไม่พบการเขียนภาพเรื่องทศชาติชาดกครบทั้ง 10 ชาติ จะเลือกมาเฉพาะเรื่องที่นิยมกันเท่านั้น ซึ่งที่วัดบวกครกหลวงก็เช่นกัน มีทั้งหมด 6 เรื่อง คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงมีลักษณะของภาพที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา โขดหิน และลำน้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีรูปร่างเป็นอิสระ เลื่อนไหล คดเคี้ยว เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการของผู้วาดที่ใช้พู่กันและสีแท้ๆ สดในอย่างอิสระแล้ว นับเป็นฉากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชื้ด

นอกจากนั้นแล้ววิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง คือ นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำ ขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนเส้นนอกกรอบเลื่อนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทด้วย

สำหรับสีที่ใช้ในจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง พอจะจำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มสีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลือง – น้ำตาล สีดำ และสีขาว ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงจึงถือเป็นงานฝีมือของช่างไทใหญ่ที่ได้ถ่ายทอดถึงชีวิตพื้นบ้าน รูปแบบสถาปัตยกรรม และการแต่งกายแบบพม่าและไทใหญ่ไว้ด้วย เช่น ถ้าเป็นการแต่งกายของชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบคนพื้นเมือง แต่ถ้าเป็นเจ้าก็จะเป็นการแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้แบบชาวเมือง ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในภาพด้วย เช่น จุนโอ๊ก , ขันชี่ (ขันเงิน, ขันทอง) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวล้านนา ผ้าซิ่นแบบคนเมือง หรือผ้าห่มคลุมตัวเวลาหนาวที่เรียกว่า ตุ้ม ด้วย ลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง จึงเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา

พร้อมกันนี้ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดบวกครกหลวง ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหนึ่งจุด กับภาพ “ตระกองกอดพลอดรัก” ที่ช่างได้ฝากฝีมือเอาไว้ เปรียบดั่งภาพปู่ม่านย่าม่าน “กระซิบรักบันลือโลก” ในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

ตระกองกอดพลอดรัก

ในวัดบวกครกหลวง นอกจากวิหารและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจแล้ว “เจดีย์” ของวัดก็น่าสนใจทีเดียว เป็นเจดีย์ทรงปราสาท มีเรือนธาตุ 4 ด้าน บุด้วยทองจังโก ซึ่งอยู่ด้านหลังของวิหาร

เป็นเวลากว่า 300 ปีมาแล้วที่ความงดงามเหล่านี้ของ “วัดบวกครกหลวง” ยังคงอยู่ ซึ่งวันนี้หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดเข้ามาชม มาชมฝีมือของบรรพบุรุษที่สรรค์สร้างสิ่งดีๆและสวยงามไว้ให้พวกเราได้เห็นได้ชื่นชม มาชมแล้วท่านจะรู้ว่าฝีมือของเขาสุดยอดเพียงใด!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *