“พระธาตุเจดีย์หลวง” สัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล ตามความเชื่อลัวะและพราหมณ์
“พระธาตุเจดีย์หลวง” ใน “วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร” อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในล้านนา ด้วยความสูงประมาณ 80 เมตร มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร เป็นอีกหนึ่งเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่
“พระธาตุเจดีย์หลวง” สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนเมืองมา (ประมาณปีพ.ศ. 1928 – 1945) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่พญากือนา พระราชบิดา ซึ่งตำนานเล่าว่า “พญากือนาซึ่งได้สวรรคตไปแล้ว ได้ปรากฏตัวแก่พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า ให้มาบอกแก่พญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ไว้ท่ามกลางเวียง ให้สูงใหญ่พอให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่พญากือนา เพื่อให้พญากือนาสามารถไปเกิดในเทวโลกได้” แต่พญาแสนเมืองมาเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีได้สืบทอดเจตนารมณ์สร้างต่อ จนแล้วเสร็จในสมัยพญาสามฝั่งแกน โดยใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 5 ปี
ต่อมาในพ.ศ. 1984 – 2030 ได้มีการปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวงในสมัยพญาติโลกราช พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ มีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแล และประสานงาน ในการปฏิรูปและก่อสร้างครั้งนี้ได้สร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ
ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย ได้เกิดพายุฝนตกหนักและแผ่นดินไหว เป็นเหตุให้พระธาตุเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานกว่า 4 ศตวรรษ โดยพระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นในปัจจุบันนี้กรมศิลปกรได้บูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ. 2535
“พระธาตุเจดีย์หลวง” ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ที่ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก เชื่อว่า พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คตินี้เห็นได้ชัดจากการสร้างเจดีย์หลวงให้สูงใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล โดยปัจจุบันบริเวณวัดเจดีย์หลวงฯ มีสิ่งสักการะหลากหลายได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ และพระฤๅษี ที่สะท้อนถึงพัฒนาการคติจักรวาลได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมือง
คติเจดีย์หลวงในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ปรากฏในคัมภีร์มหาทักษาเมือง กล่าวถึง การสร้างวัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ 9 แห่ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับชัยภูมิ และความเชื่อเรื่องทิศทั้ง 4 และทิศเฉียงอีก 4 ทิศ เป็น 8 ทิศ เมื่อทิศทั้ง 8 มาบรรจบกัน จึงเกิดเป็นจุดศูนย์กลางรวมกันเป็น 9 ถือเป็นเลขมงคล ตำแหน่งจุดศูนย์กลางเมืองเป็นสะดือเมือง กำหนดให้เป็นเกตุเมืองตรงกับวัดเจดีย์หลวง ซึ่งวัดทั้ง 8 แห่งที่สร้างตามทักษาเมือง คือ บริวารเมือง ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) “วัดสวนดอก” , อายุเมือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) “วัดเจ็ดยอด” , เดชเมือง ทิศเหนือ (ทิศอุดร) “วัดเชียงยืน” , ศรีเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) “วัดชัยศรีภูมิ” , มูลเมือง ทิศวะวันออก (ทิศบูรพา) “วัดบุพพาราม” , อุตสาหเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) “วัดชัยมงคล” , มนตรีเมือง ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) “วัดนันทาราม” และกาลกิณีเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) “วัดตโปทาราม” (วัดร่ำเปิง)
รอบๆฐานพระธาตุเจดีย์หลวง จะเห็น “ช้าง” ครึ่งตัวประดับอยู่ โดยพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีเมื่อครั้งทรงก่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงนั้น พระนางทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์แล้วปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งเอาแก้ว 3 ลูก ใส่ยอดเจดีย์ไว้ ประดับด้วยโขงประตูทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูปพญานาคปั้นเต็มตัว 8 ตัว ตัวละ 5 หัว อยู่ใน 2 ข้างบันได รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์ 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ ซึ่งชื่อช้าง 8 เชือกที่ล้อมเจดีย์หลวง นับจากนับตามลำดับตั้งแต่ตัวที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวียนมาตามทิศตะวันออก มีดังนี้ เมฆบังวัน , ข่มพลแสน , ดาบแสนด้าม , หอกแสนลำ , ปืนแสนแหล้ง , หน้าไม้แสนเกี๋ยง , แสนเขื่อนก๊าน และไฟแสนเต๋า
โดยการสร้างรูปปั้นช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์ เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยี เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด และปราบปรามอริราชศัตรู ที่จะมารุกรานให้แพ้ภัย ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมาย ได้แก่
- เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน น่ากลัวยิ่งนัก ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติ ตกใจกลัวแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “เมฆบังวัน”
- เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาหลงลืม ไม่อาจครองสติอยู่ได้ ต้องระส่ำระส่าย แตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ข่มพลแสน”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสนๆเล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ มีแต่จะเกิดหวาดหวั่นขาดกลัวแตกหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ดาบแสนด้าม”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามารานรบ แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หอกแสนลำ”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ปืนแสนแหล้ง”
- เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หน้าไม้แสนเกี๋ยง”
- เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพลหัตถีนึก กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ มีแต่จะอลม่านแตกตื่นแกหนีไปสิ้น จึงได้ชื่อว่า “แสนเขื่อนก๊าน”
- เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงเผาผลาญรอบด้าน เลยแตกพ่ายหนีไปด้วยความทุกข์ทรมาน จึงได้ชื่อว่า “ไฟแสนเต๋า”
ปัจจุบัน “พระธาตุเจดีย์หลวง” ได้รับการบูรณะอยู่เนืองๆ ซึ่งล่าสุด สมาคมสถาปนิกล้านนาฯ (ASA Lanna) x ศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC: Arch CMU) ได้ทดลองแสงการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงแบบเต็มองค์ขึ้น เพื่อเติมเต็มความสูงขององค์เจดีย์หลวง ให้ได้เห็นองค์เจดีย์ในอดีต โดยอ้างอิงรูปทรงกับความสูงจากการศึกษาเทียบเคียงหลักฐานตำนาน และข้อสันนิษฐานหลายแห่งจากนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนาหลายท่าน