เมืองโบราณเชียงแสน ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนายุคแรก

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนามีความเป็นมาอย่างยาวนานนับพันปี เริ่มต้นที่ “เมืองเชียงแสน” เมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1871 โดยพระเจ้าแสนภู กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านนา ซึ่งอาณาจักรอันเป็นศูนย์กลางล้านนายุคแรกแห่งนี้จะมีความเป็นมาอย่างไร และปัจจุบันเป็นเช่นไร วันนี้เรามาหาคำตอบด้วยกัน!!!

“เมืองเชียงแสน” เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นเมืองแรกๆในยุคก่อร่างสร้างอาณาจักรล้านนา เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาในยุคแรกๆ ก่อนที่จะย้ายศูนย์กลางอำนาจไปยังเมืองต่างๆ จนมาเป็นเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา เดิมชื่อว่า “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน” ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากตำนานพงศาวดารโยนกได้บันทึกเอาไว้ว่า “เมืองเชียงแสนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1871 โดยพระเจ้าแสนภู กษัตริย์ครองอาณาจักรล้านนา ต่อมาเมื่อพระองค์สละราชสมบัติให้โอรส จึงได้มาสร้างเมืองดังกล่าวขึ้น พื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงแสนนั้น ในอดีตเคยเป็นชุมชนเดิมเรียกกันว่า เมืองรอย”

ตัวเมืองเชียงแสนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ขนานไปกับแม่น้ำโขงตัวเมืองกว้าง 700 วา และยาว 1,500 วา ทิศเหนือมีอาณาเขตถึงเมืองกายสามท้าวต่อเขตแดนเมืองเชียงตุง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงเมืองหลวงบ่อแร่ต่อเขตแดนฮ่อ ทิศตะวันออกถึงดอยเชียงชีต่อเขตแดนเมืองเชียงของ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ถึงดอยกิ่วค้างหวายหนองวัวต่อเขตแดนเมืองเชียงของ ทิศใต้ถึงแม่น้ำเติมต่อเขตแดนเมืองเชียงราย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงดอยกิ่วคอหมาต่อเขตแดนเมืองฝาง ทิศตะวันตกถึงผาตาเหลวต่อเขตแดนเมืองสาด และทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงเมืองไรดอยช้าง ต่อเขตแดนเมืองเชียงตุง

ในปี พ.ศ.1951 พระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์อาณาจักรล้านนาได้โปรดเกล้าฯให้สร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ด้วยอิฐ มีป้อมปราการรวมทั้งขุดขยายคูออกไปให้ตัวเมืองมีความมั่นคงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเมืองเชียงแสนเริ่มเป็นเมืองสำคัญ พลเมืองมีจำนวนมากขึ้น

ปี พ.ศ.2101 อาณาจักรล้านนาทั้งหมดตกอยู่ในการปกครองของพม่า รวมทั้งเมืองเชียงแสนด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาต่อมาเจ้าเมืองเชียงแสนจึงมักเป็นข้าราชการพม่าผลัดเปลี่ยนกันมาปกครอง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ได้ทรงรวบรวมและพยายามขับไล่อิทธิพลของพม่าให้พ้นจากอาณาจักรล้านนา โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้ากาวิละและเจ้าเมืองหลายเมืองของอาณาจักรล้านนา

ปี พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช คุมกองทัพยกไปขับไล่พม่าที่ยังคงยึดครองเมืองเชียงแสนให้พ้นเขตแดนให้ได้ กองทัพดังกล่าวทำการรบมีชัยชนะ สามารถขับไล่พม่าออกไปพ้นเขตแดนได้ และเพื่อความปลอดภัยและกันไม่ให้พม่าเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่เมืองเชียงแสนอีก จึงได้โปรดเกล้าฯให้อพยพราษฏรออกจากเมืองเชียงแสน รื้อกำแพงเมืองและป้อมปราการไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ข้าศึก ราษฏรที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนบางส่วนได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และที่บ้านบัวคู จังหวัดราชบุรี รวมทั้งกระจายอยู่ในเมืองต่างๆของภาคเหนือ ดังนั้นเมืองเชียงแสนจึงได้กลายเป็นเมืองร้างมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

ปี พ.ศ 2420 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ราษฏรที่เคยอยู่ในเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่เดิม สมัครใจกลับไปตั้งถิ่นฐานสามารถเดินทางกลับไปได้ และได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองเชียงแสนขึ้นอีกครั้งหนึ่งขึ้นกับเมืองเชียงราย ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองท้องถิ่น เมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจในเมืองโบราณเชียงแสนนี้มีมากมาย ได้แก่

“วัดป่าสัก”
“วัดป่าสัก” ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงเมืองเชียงแสน ทางด้านทิศตะวันตก มีหลักฐานปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า วัดป่าสักสร้างขึ้นขณะพญาแสนภูสร้างกำแพงเมืองเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว 4 ปีสันนิษฐานว่าอยู่ในปี พ.ศ. 1875 ได้มีภิกษุมาจากเมืองปาฏลีบุตร นำพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มด้านขวามาถวาย พญาแสนภูจึงโปรดฯให้สร้างพระอารามขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นอกกำแพงเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตก เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้ปลูกต้นสักแวดล้อมพระอารามไว้ 300 ต้น ทรงแต่งตั้งภิกษุที่นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ปลูกกุฎิเสนาสนะอยู่ในวัดป่าสัก โบราณสถานสำคัญของวัดป่าสัก ได้แก่ เจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด มี 5 ยอด ผสมผสานศิลปะสุโขทัย พุกาม และหริภุญไชยเข้าด้วยกัน จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ถือเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอับดับสองของไทย รอบเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางเปิดโลก ลักษณะเรือนซุ้มจระนำนี้เป็นซุ้มซ้อนกัน 2 ชั้น มีการประดับลวดลายปูนปั้นรูปครุฑ กินรี และลายกนก ลวดลายดอกไม้ที่สะท้อนอิทธิพลศิลปะจีน เช่น ลายเมฆ ลายช่องกระจก ลายบัวมีมีไส้ ลายดอกโบตั๋น และลายกลีบบัวขนาดใหญ่ เรียกว่าบัวฟันยักษ์ ที่เปรียบเทียบได้กับลายกลีบบัวของศิลปะอินเดียสมัยปาละ

“วัดเจดีย์หลวง”
“วัดเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงแสน เดิมเรียกว่าวัดพระหลวง ตามตำนานกล่าวว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชภารกิจในการสร้างกำแพงเมืองเชียงแสน พญาแสนภูทรงสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบไปบนเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยพญาศิริธรรมอโศกราชในวัดพระหลวง หลังจากนั้นอีก 3 ปี ทรงเล็งเห็นว่าวัดพระหลวงเป็นวัดสำคัญที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้าจึงโปรดฯให้สร้างพระวิหารวัดพระหลวง กว้าง 8 วา ยาว 17 วา และเจดีย์สูง 29 วา จากนั้นชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า มีการบูรณะเจดีย์หลวงในปี พ.ศ. 2058 ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว โดยโปรดฯให้ขุดฐานเจดีย์ใหญ่ในมหาวิหารกลางเมืองเชียงแสน แล้วให้ก่อเจดีย์องค์ใหม่ ฐานกว้าง 15 วา 25 วา

“กำแพงเมืองเชียงแสน”
“กำแพงเมืองเชียงแสน” เอกสารประวัติศาสตร์ระบุว่าราว ปี พ.ศ. 1871 พญาแสนภูทรงฟื้นฟูเมืองรอยเก่าริมแม่น้ำโขงด้านทิศตะวันตก โดยโปรดฯให้ขุดคูเมืองด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ เว้นแต่ทิศตะวันออกที่เอาแม่น้ำโขงเป็นเขตแดน ก่อกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน มีประตู 11 ประตู ปัจจุบันเหลือหลักฐานกำแพงเมืองด้านทิศเหนือยาว 950 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะพังทลายไป

ปัจจุบัน กำแพงเมืองเชียงแสนเหลือหลักฐานป้อมปากประตู 5 แห่ง คือ ป้อมปากประตูนางเซิ้ง ป้อมปากประตูหนองมูต ป้อมปากประตูเชียงแสนหรือป่าสัก ป้อมปากประตูทัพม่าน และป้อมปากประตูดินขอ เนื้อที่ภายในกำแพงเมืองเชียงแสนราว 2.5 ตารางกิโลเมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่กำแพงเมืองเชียงแสน พบหลักฐานสำคัญดังนี้

กำแพงเมืองสมัยที่ 1 พบแนวกำแพงก่ออิฐอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยที่ 2 กำแพงเมืองสมัยที่ 2 สร้างครอบทับกำแพงเมืองสมัยที่ 1 โดยนำดินจากการขุดลอกคูเมืองพูนทับตัวกำแพงสมัยที่ 1 จากนั้นจึงก่อกำแพงอิฐครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง กำแพงเมืองสมัยที่ 2 มีลักษณะพิเศษ คือ ผนังกำแพงด้านในเมืองก่ออิฐเป็นขั้นบันได รับกับพื้นเชิงเทินบนกำแพง ซึ่งมีประโยชน์ในการขนถ่ายกำลังทหารที่ประจำอยู่บนเชิงเทิน และเพื่อมิให้ดินที่เป็นโครงการแกนในกำแพงถูกชะล้างทำลายด้วยฝนหรือสิ่งอื่นๆ ส่วนกำบัง (เสมา) มีการสร้างและซ่อมแซมหลายครั้ง จึงมีรูปแบบหลากหลายสะท้อนถึงการใช้งานที่ยาวนาน ผ่านศึกสงคราม รูปแบบของส่วนกำบังจำแนกได้ถึง 11 แบบ เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวว่า พญาแสนภูทรงฟื้นฟูเมืองรอยโดยสร้างกำแพงเมื่อ ปี พ.ศ. 1871 จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2543 มีการนำอิฐของกำแพงเมืองเชียงแสนไปหาค่าอายุด้วยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค่าอายุดินและอิฐของกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยที่ 1 ที่ 1,400-1,600 ปีมาแล้ว และกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์กับยุคประวัติศาสตร์ โดยกำแพงเมืองสมัยที่ 1 คงถูกใช้ประโยชน์ในแง่การชลประทาน ส่วนกำแพงสมัยที่ 2 ถูกสร้างเพื่อประโยชน์ทางการทหาร การรับศึกสงครามเป็นหลัก

นอกจากนี้แล้ว ภายในเขตตัวเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน ยังคงปรากฏโบราณสถานให้เห็นมากมาย แต่ละแห่งล้วนยังคงความงดงามเหนือกาลเวลา ท่ามกลางภูมิทัศน์ร่มรื่นสะอาดตาของชุมชน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆของเมืองเชียงแสนได้ตลอดทั้งวัน และทางเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ยังได้จัดให้มีบริการรถรางเที่ยวชมโบราณสถาน พร้อมผู้บรรยายตำนานเมืองให้ฟังแบบเต็มอรรถรส เพื่ออนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้เอาไว้ตราบรุ่นสู่รุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *