ชมภาพภูมิปัญญาชาวบ้าน หัตถกรรมเครื่องเงินดุนลาย เรื่อง “ทศชาติชาดก” และ “พุทธประวัติ” ในวิหาร “วัดศรีสุพรรณ”
“วัดศรีสุพรรณ” ในย่านวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่โดดเด่นและโด่งดังด้วย “อุโบสถเงิน” หลังแรกของโลก ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีปณิธานร่วมกันในการ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชันย์ รัชกาลที่ 9” ซึ่งนอกจากวัดนี้จะโดดเด่นด้วยอุโบสถเงินแล้ว ภายใน “วิหาร” ของวัด ยังมีภาพภูมิปัญญาชาวบ้าน หัตถกรรมเครื่องเงินดุนลายที่ถ่ายทอดเรื่องราว “ทศชาติชาดก” และ “พุทธประวัติ” ของพระพุทธเจ้าให้ได้ชมกันอีกด้วย
“วิหาร” วัดศรีสุพรรณ เป็นวิหารทรงล้านนา ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรส ราว พ.ศ. 2342 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ฝาผนังประดับด้วยจิตรกรรมเรื่องราวพระธาตุ 12 ราศี ภาพพระธาตุเจดีย์ ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในอดีต และภาพปริศนาธรรมโลกทั้ง 3 พร้อมทั้งทางวัดยังได้นำเอาภาพภูมิปัญญาชาวบ้าน หัตถกรรมเครื่องเงินดุนลาย ภาพ “ทศชาติชาดก” และภาพ “พุทธประวัติ” อันวิจิตรบรรจงมาประดับไว้ให้ได้ชมกันอีกด้วย
โดย “นายสวรรค์ แคว้นไธสง” ประชาสัมพันธ์มูลนิธิวัดเงิน กล่าวว่า “แต่เดิมเรื่องราวทศชาติชาดกและพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในวิหารหลังนี้เป็นเพียงภาพเขียน พอถึงเมื่อครั้งทางวัดบูรณะวิหาร พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ และประธานกรรมการมูลนิธิวัดเงิน ได้เกิดไอเดีย นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านในย่านวัวลายในการทำหัตถกรรมเครื่องเงินดุนลาย มาทำเป็นภาพทศชาติและพุทธประวัติพระพุทธเจ้า ประดับไว้บนผนังวิหารแทนภาพเขียน ซึ่งภาพในลักษณะนี้ต่อมาชาวบ้านวัวลายได้นำมาทำขาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ”
สำหรับภาพหัตถกรรมเครื่องเงินดุนลายเรื่อง “ทศชาติชาดก” มีครบทั้ง 10 ชาติ ได้แก่ ชาติที่ 1 เตมีย์ชาดก บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ซึ่งเป็นชาติแรกในทศชาติชาดก ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามพระโคดม ชาตินี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึง การออกบวช , ชาติที่ 2 มหาชนกชาดก บำเพ็ญวิริยบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสียเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิมนางเมขลาเห็นเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ วิริยบารมี
ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก บำเพ็ญเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมฤๅษี ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ เมตตาบารมี , ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก บำเพ็ญอธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โอรสเจ้าเมืองมิถิลา โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ พระอินทร์ทรงพอพระทัย ถึงกับให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์ และเมืองนรก แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ พระเนมิราชไม่ทรงรับและเสด็จกลับบ้านเมืองของพระองค์ พอทรงชราก็ออกผนวช พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
ชาติที่ 5 มโหสถชาดก บำเพ็ญปัญญาบารมี , ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก บำเพ็ญศีลบารมี , ชาติที่ 7 จันทชาดก บำเพ็ญขันติบารมี , ชาติที่ 8 บำเพ็ญอุเบกขาบารมี , ชาติที่ 9 วิทูรชาดก บำเพ็ญสัจจบารมี และชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก บำเพ็ญทานบารมี เป็นชาติสุดท้ายที่สำคัญ บำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือ พระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ทรงประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่ป่า พระนางมัทรีพร้อมด้วยกุมารทั้งสองตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกมาขอสองกุมารก็ประทานให้ ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาทรงไถ่สองกุมารมาจากชูชก และเสด็จไปรับพระเวสสันดรกลับพระนคร