ชมอุโบสถช้างล้อมลายคำ พุทธศิลป์ล้านนาล้ำค่า ที่ “วัดแม่สาหลวง”
“วัดแม่สาหลวง” แม้จะไม่ใช่วัดดังหรือวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมไป แต่ก็เป็นวัดอีกวัดหนึ่งที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อุโบสถช้างล้อมลายคำ” พุทธศิลป์แห่งล้านนาอันล้ำค่า มีความปราณีตในรายละเอียด ที่ไม่ควรพลาดชม
“วัดแม่สาหลวง” บ้านแม่สาหลวง ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2374 แต่เดิมนั้นชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยน้อย” หรือ “วัดสมเด็จดอยน้อย” และต่อมาได้ย้ายวัดมาอยู่ ณ บริเวณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีชื่อใหม่ว่า “วัดแม่สาป่าเหมือด” หลังจากนั้นจึงย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่ง มาอยู่ที่บ้านแม่สาหลวง และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแม่สาหลวง” ดั่งในปัจจุบัน
ภายในวัดแม่สาหลวงมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่าง “พระอุโบสถช้างล้อมลายคำ”
พระอุโบสถหลังนี้ ตั้งอยู่บริเวณกลางลานวัด หน้าบันตกแต่งด้วยงานไม้แบบล้านนาประณีตและงดงามด้วยศิลปะล้านนาโบราณ ตัวอาคารสร้างด้วยปูน หลังคากระเบื้องดินเผา ราวบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเป็นประติมากรรมพญานาคสีขาว มียักษ์สองเฝ้าทางเข้า จุดเด่นของพระอุโบสถ คืองานแกะสลักไม้ในส่วนต่างๆ ทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เสา ซุ้มประตู และหน้าต่าง ถูกแกะด้วยฝีมืออันประณีตของช่างล้านนา พร้อมกันนี้รอบพระอุโบสถยังมีประติมากรรมช้างแกะด้วยหินทรายประดับอยู่โดยรอบ จึงเรียกว่า “พระอุโบสถช้างล้อม” โดยภายในพระอุโบสถฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
นอกจากนี้ในส่วนอื่นๆของวัดก็น่าสนใจไม่น้อย อันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หอพระไตรปิฎก และพระวิหาร
“พระธาตุเจดีย์” ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถช้างล้อม ลักษณะขององค์เจดีย์คล้ายเจดีย์เหลี่ยมของวัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มด้านละสามซุ้ม ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทอง
“หอพระไตรปิฎก” หรือ “หอไตร” ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถฯ มีลักษณะคล้ายกับหอไตรที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นอาคารปูนทาด้วยสีชมพู ส่วนด้านบนเป็นเรือนไม้ ประดับตกแต่งด้วยงานไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง
และ “พระวิหาร” เป็นพระวิหารทรงไทยประยุกต์ผสมล้านนา เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบันและเสาประดับตกแต่งด้วยงานกระจกสีสวยงาม ด้านในพระวิหารเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และประดิษฐานพระพุทธรูปทองเหลืองปางสดุ้งมารแบบสุโขทัย และพระพุทธรูปทองเหลืองปางสมาธิแบบสุโขทัย