วัดพระสิงห์ฯ 1 ใน 10 วัดของประเทศ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเครื่องราชสักการะถวายเป็นพุทธบูชา

วัดสำคัญๆในเชียงใหม่ ถือเป็นอีกเป้าหมายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาเยือนเชียงใหม่ โดย “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่ง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา โดยพระสิงห์เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ที่รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง”

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย พญาผายูได้นำอัฐิ พญาคำฟู ผู้เป็นราชบิดา ซึ่งครองอยู่เมืองเชียงแสนมาบรรจุในสถูปประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ แล้วสร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ ขึ้น แล้วทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” เนื่องด้วยที่บริเวณหน้าวัดเป็นสถานที่ค้าขายของชาวเมือง จนกลายเป็นตลาดลีเชียงพระ

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1943 เจ้ามหาพรหม กษัตริย์เมืองเชียงราย ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ ซึ่งได้มาจากเมืองกำแพงเพชร นำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พญาแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ประชาชนจึงเรียกวัดลีเชียงพระว่า”วัดพระสิงห์” นับตั้งแต่นั้นมา

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหารนั้น มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

“โบสถ์” เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็นแบบศิลปะล้านนาโดยแท้ ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็น วงกลมสองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทอง

“พระอุโบสถ” หรือพระอุโบสถสองสงฆ์ ตามหลักศิลาจารึกบอกว่า สร้างสมัยของพระเจ้ากาวิละ พระเจ้ากาวิละและเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์สมัยนั้น ได้ร่วมกันสร้างและจัดงานฉลองเมื่อ พ.ศ.2355  พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา มุงกระเบื้องดินเผามีช่อฟ้าใบระกา มีมุขทั้ง 2 ด้าน มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 2 ด้านที่งดงาม รูปทรงครึ่งปูนครึ่งไม้ ด้านบนเป็นเครื่องไม้ทั้งหมด ตรงกลางพระอุโบสถมีมณฑปที่สวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพย์จำลอง ซึ่งเหตุที่เรียกว่าพระอุโบสถสองสงฆ์ เพราะเป็นการสร้างเพื่อจำลองการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

“หอไตร” สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมอยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ที่ฐานหอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก และกิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน

“พระมหาธาตุเจดีย์” (พระธาตุหลวง) ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ เป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง พญาผายูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2101-2317 เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพม่า วัดพระสิงห์ขณะนั้นมีสภาพเป็นวัดร้าง เสนาสนโบราณสถานอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม มาถึง พ.ศ. 2469 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และครูบาศรีวิชัย ได้นำประชาชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเสริมสร้างพระธาตุเจดีย์ให้สูงใหญ่

“วิหารลายคำ” วิหารที่มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมาก แสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมล้านนา มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรม เขียนเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองที่พบเพียงแห่ง เดียวในประเทศไทย

“พระพุทธสิหิงค์” หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร  เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา เจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ที่กรุงศรีอยุธยาต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2338 ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวัง บวรสถานมงคล โดยจะมีพิธีเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ ส่วนพระสิงห์ที่ประดิษฐานที่วัดแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปจำลอง

“จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ” จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำนั้น ปรากฎณ์เป็นจิตรกรรมฝาผนังอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ เรื่องสังข์ทองและเรื่องสุวรรณหงส์

“จิตรกรรมเรื่องสังข์ทอง” หรือสุวรรณหอยสังข์ เขียนไว้โดยรอบฝาผนังด้านในของวิหารลายคำ ตามหลักฐานเอกสารพบว่า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ เขียนขึ้นเมื่อครั้งมีการบูรณปฏิสังขรณ์ พระอาราม ภายในกำแพงเมืองในสมัยพญาสุลวฤาชัยสงคราม (หนานทิพช้าง) ปกครองหัวเมืองล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าช่างที่เขียนเป็นชาวจีน ชื่อ เจ็กเส็ง

การวางตำแหน่งของภาพเรื่องสังข์ทอง จะดำเนินเรื่องจากข้างหน้าไปทางด้านใน คือ จากฝาผนังประตูหน้าวิหาร ซึ่งเป็นผนังที่มีขนาดเล็ก จะอธิบายภาพเรียงลำดับดังนี้ ห้องภาพที่ 1 เป็นตอนที่นางยักษ์พันธุรัต เข้าป่าหาอาหาร เป็นฉากธรรมชาติมีสถาปัตยกรรมอยู่เพียงหลังเดียว ภาพสัตว์ป่าวิ่งหนีนางยักษ์กันโกลาหล ภาพนางยักษ์นอนหลับอยู่ในพลับพลาโถงขนาดกลาง

ห้องภาพที่ 2 เป็นภาพนางพันธุรัตที่แปลงกายเป็นมนุษย์อยู่ในเมือง พระสังข์ลอบชุบตัวในบ่อทอง บ่อเงิน แล้วเหาะหนีขึ้นไปบนภูเขา จนนางพันธุรัตตรอมใจ ด้านซ้ายมือของผนังเป็นขบวนของกษัตริย์ 101 เมือง กำลังเดินทางเพื่อไปเลือกคู่ ห้องภาพที่ 3 เป็นภาพเจ้าเงาะเหาะลงมายังพื้นราบ กษัตริย์ 101 เมืองเดินทางมาเข้าพิธีเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ เสนาเข้าเฝ้าท้าวสามลเพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ

ห้องภาพที่ 4 เป็นตอนที่ธิดาทั้ง 6 คัดเลือกกษัตริย์ได้แล้ว ยังแต่นางรจนา ท้าวสามลจึงประกาศให้มาชุมนุมใหม่ เพื่อให้นางรจนาเลือกในวันรุ่งขึ้น ห้องภาพที่ 5 เป็นตอนที่เสนาล่อเจ้าเงาะลงมาจนถึงตอนที่ท้าวสามลขับไล่นางรจนาออกจากวัง ห้องภาพที่ 6 เป็นภาพธิดาทั้ง 6 รุมด่าว่านางรจนา ใกล้ๆ กันด้านบนเป็นรูปเหล่ากษัตริย์ที่บรรดาธิดา 6 พระองค์ได้เลือกไว้ ส่วนด้านนอกกำแพงเมืองเป็นรูปเจ้าเงาะเดินออกจากเมืองไปกับรจนา และห้องภาพที่ 7 ถัดเข้ามาเป็นผนังด้านในสุดอยู่บริเวณด้านข้างของฐานชุกชี เป็นภาพอดีตพุทธ

“จิตรกรรมเรื่องสุวรรณหงส์” เขียนไว้ที่ผนังด้านหน้าส่วนล่าง ส่วนช่วงกลางและบน ผนังด้านในวิหารลายคำ ฉากนำของเรื่องสุวรรณหงส์ เป็นภาพเมืองมัตตังของนางเกศสุริยง ตัวเอกฝ่ายหญิง ที่พระสุวรรณหงส์ โอรสพระเจ้ากรุงไอยรัตน์ ขี่หงส์ยนต์ไปเมืองมัตตัง ลอบปีนหน้าต่างเข้าหานางเกศสุริยง เมื่อทั้งสองได้พบกัน เกิดพึงตาต้องใจและมีสัมพันธ์รักกัน ระหว่างนั้นนางยักษ์พี่เลี้ยงทั้งห้าแอบเห็นเข้า จึงทำหอกยนต์ดักไว้ที่ช่องหน้าต่าง พระสุวรรณหงส์ถูกหอกยนต์พุ่งเสียบอกอาการสาหัส เมื่อนางเกศสุริยงรู้ว่าพระสุวรรณหงส์ได้รับอันตรายถึงชีวิต นางเสียใจมาก จึงหนีออกจากปราสาท เดินตามรอยเลือดไปพลาง ร้องไห้พลาง

ห้องภาพที่ 1 เริ่มตอนล่างของหน้าต่างครึ่งซ้าย เป็นฉากเมืองไอยรัตน์ พระสุวรรณหงส์ตาย นางเกศสุริยงสลบด้วย ความเศร้าโศก พระอินทร์ได้ช่วยให้นางฟื้นและแปลงร่างนางให้เป็นพราหมณ์หนุ่ม พราหมณ์เกศสุริยงฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย แล้วเดินทางไปเมืองไอยรัตน์ขออาสารักษาพระสุวรรณหงส์ พระสุวรรณหงส์กับพราหมณ์อัมพรและพราหมณ์โต เดินทางพร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร

ห้องภาพที่ 2 พระสุวรรณหงส์พาพราหมณ์อัมพรเดินชมสวน พระสุวรณหงส์ออกอุบายให้หญิงอื่นเข้ามาสนิทสนมต่อหน้าต่อตา นางเสียใจมาก หนีกลับเมืองมัตตัง พระสุวรณหงส์จึงออกติดตาม ห้องภาพที่ 3 เมื่อตามถึงเมืองพบตัวปลอมซึ่งไม่ทราบเรื่องจึงเสียใจคิดฆ่าตัวตาย แต่นางเกศสุริยงตัวจริงห้ามไว้ทันทำให้ทั้ง สองคนเข้าใจกัน เมื่อท้าวสามลทราบเรื่องและหวงลูกสาวจึงยกทัพไปล้อมปราสาทและต่อสู้กับพระสุวรรณหงส์ แต่ก็แพ้พระสุวรรณหงส์

และห้องภาพที่ 4 พระสุวรรณหงส์กับนางเกศสุริยงเดินเท้ากลับเมืองไอยรัตน์ ระหว่างทางถูกนางยักษ์ทำอุบายแล้วแปลงกาย เป็นนางเกศสุริยงและกลับเข้าเมือง ภายหลังนางยักษ์ถูกฆ่าตายโดยยักษ์กุมภัณฑ์ๆ ออกตามหานางเกศสุริยงจนพบ จึงพานางไปอยู่กับนางเมขลา แล้วยักษ์กุมภัณฑ์เดินทางไปเมืองไอยรัตน์ บอกเล่าความจริงทุกอย่างให้พระสุวรรณหงส์ทราบและสำหรับบริเวณที่เป็นผนังย่อมุมรวมถึงผนังห้องภาพที่ 5 นั้น ภาพลบเลือนทั้งหมด

ทั้งหมดนี้คือความสำคัญและความสวยงามของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งท่านใดสนใจก็แวะมาเที่ยวชม และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์ในวัดกันได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *